กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี
ศวพ.เพชรบุรี งัดมาตรการเด็ดทดสอบใช้ชีวภัณฑ์ "แตนเบียนโกนิโอซัสและมวนพิฆาต"กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว สยบปัญหาปัญหาการระบาดในพื้นที่บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มั่นใจมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อคน แมลงศัตรูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสมพร เหรียญรุ่งเรือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี(ศวพ.เพชรบุรี) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อลดปัญหาการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กรณีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและเลี้ยงปลาไม่เห็นด้วยกับแนวทางลดปัญหาการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าวโดยใช้สารเคมีกำจัดพ่นทางใบ ซึ่งจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเกษตรกรมีอาชีพหลัก คือเลี้ยงกุ้งและปลา เกษตรกรมีความเชื่อว่าสารเคมีที่ใช้พ่นทางใบเหล่านี้หากเกิดการชะล้างลงแหล่งน้ำจะทำให้กุ้งและปลาตายเกิดความเสียหาย แม้เจ้าหน้าที่จะเข้าไปชี้แจงข้อปัญหาดังกล่าวแต่เกษตรกรก็ยังไม่คลายข้อสงสัยและความกังวล
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรในการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ศวพ.เพชรบุรีในฐานะหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชในการทำโครงการทดสอบเทคโนโลยีการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยแตนเบียนโกนิโอซัสและมวนพิฆาตในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้โครงการวิจัยเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชเพื่อการผลิตพืชปลอดภัยโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมโครงการดังกล่าวหันมาเน้นใช้ชีวภัณฑ์ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชเป็นหลัก คือ แตนเบียนโกนิโอซัสและมวนพิฆาตมาทดสอบในแปลงเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยชีวภัณฑ์ที่นำไปใช้ไม่เป็นอันตรายต่อคน แมลงศัตรูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบในพื้นที่เพื่อลดปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ดังกล่าว
ด้านนางสาวนรีรัตน์ ชูช่วย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าว่า มะพร้าวเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวยังคงประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด โดยแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ คือ หนอนหัวดำมะพร้าว เมื่อปี 2560 พบพื้นที่หนอนหัวดำมะพร้าวระบาด 29 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรีนั้น มีต้นมะพร้าวที่หนอนหัวดำเข้าทำลายจำนวน 31,063 ต้น มีมะพร้าวต่ำกว่า 12 เมตร จำนวน 16,801 ต้น ซึ่งได้มีการดำเนินการตามโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ)ด้วยวิธีผสมผสานฯ โดยวิธีพ่นสารฟลูเบนไดอะไมด์20%ดับเบิ้ลยูจี ในมะพร้าวที่ต่ำกว่า 12 เมตร และในปัจจุบันพบว่า เมื่อสภาพอากาศเหมาะสมหนอนหัวดำมะพร้าวยังคงกลับมาระบาดอีกครั้ง หากเกษตรกรไม่ได้มีการป้องกันกำจัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ศวพ.เพชรบุรีได้ส่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยแตนเบียนโกยิโอซัสและมวนพิฆาตให้กับเกษตรกรที่ต้องการร่วมโครงการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว จากนั้นเตรียมประเมินความเสียหายจากการทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว และสุ่มตรวจนับจำนวนประชากรหนอนหัวดำมะพร้าวในแต่ละวัย โดยประเมินและติดตามผลจำนวน 10 ต้น/แปลง (พื้นที่สุ่ม 1 ไร่ เก็บใบจำนวน 10 ใบย่อย/ต้น) และประเมินประสิทธิภาพของศัตรูธรรมชาติในแปลง หลังเข้าไปดำเนินการทุกเดือน
"เพื่อลดปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ศวพ.เพชรบุรีจึงหันมาเน้นการการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวโดยชีววิธีในแปลงมะพร้าวที่ประสบปัญหาการระบาดในระดับน้อยถึงปานกลาง โดยการใช้ชีวภัณฑ์ ได้แก่ แตนเบียนโกนิโอซัส และมวนพิฆาต ในแปลงเกษตรกร แบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว โดยเกษตรกรได้เรียนรู้ ยอมรับที่จะนำไปปฏิบัติ โดยวิธีการที่จะนำไปขยายผลใช้ประโยชน์ทั้งหมดไม่เป็นอันตรายต่อคน แมลงศัตรูธรรมชาติ สัตว์อื่นๆ และสิ่งแวดล้อม และได้ผ่านการทดสอบวิจัยแล้วจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จึงนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาดำเนินการทดสอบในพื้นที่เพื่อลดปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวต่อไป "นางสาวนรีรัตน์ กล่าว