กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--หอการค้าไทย
- จาก GDP ไตรมาส 3 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทั้งการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ชัดเจน โดยมีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชิมช้อปใช้ และการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrivals
- มองไปข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังขาดแรงหนุนให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงมีอยู่มาก โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย นอกจากนี้ ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังมีผลต่อการลงทุนของภาครัฐและเป็นข้อจำกัดหากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคนสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก เพราะ fundamental ของไทยยังแข็งแกร่งโดยมีเงินทุนสำรองจำนวนมาก ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็ตาม หากการเมืองนิ่งและมีเสถียรภาพ นักลงทุนก็มีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เห็นได้จากที่ทางแครี่ แลม มาเยือนประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนได้ยื่นขอ BOI เพื่อพิจารณาโครงการซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี สำหรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ประชุม กกร. จะรายงานตัวเลขในการประชุมครั้ง หน้าในเดือนมกราคม 2563
- แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ มาตรการ ชิมช้อปใช้ (ทั้ง 3 เฟส) มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร, มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว, มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นแรงบวกที่จะชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศได้บ้าง ซึ่ง กกร. เห็นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลควรที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้าปรับตัวดีขึ้น และรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้
- โดยทาง กกร.เสนอให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนี้
1. มาตรการ ช้อปช่วยชาติ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค (ยกเว้นสินค้าบางประเภท อาทิ สุรา ยาสูบ เป็นต้น) รวมทั้งของขวัญปีใหม่ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2. มาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และของนิติบุคคลไม่เกิน 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง
3. เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน อันจะส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานในทุกจังหวัด โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น (Local to Local) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย / กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4. ผลักดันและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานของ บสย. ในปี 2563 เช่น โครงการ PGS8 (โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs) และการนำ Credit Scoring มาใช้เพื่อให้สามารถคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามลำดับความเสี่ยงของ SMEs ให้มีการดำเนินการที่เร็วขึ้น
5. เร่งรัดการคืนภาษี VAT ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงกับบริการ e-Payment
6. ผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ๆของ SMEs และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับ SMEs ในตลาดเป้าหมาย และส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่เป็น SMEs ขายสินค้าเป็นเงินบาท และให้สิทธิพิเศษในการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับการรับชำระค่าสินค้าโดยไม่คิดค่า Premium หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง EXIM Bank
- ในกรณีของค่าเงินบาท ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อยู่ที่ 1.25% เพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว และได้ปรับเกณฑ์ 4 มาตรการเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท โดย กกร. เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาอาจช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น จึงขอให้ ธปท.พิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และหากยังปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบในระยะยาว
- ในส่วนของปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการนำเสนอหลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมาย กกร.จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมลงชื่อสนับสนุนพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ไปยังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการความสะอาดของอากาศอย่างบูรณาการ