กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ไออาร์ พลัส
ASIAN มองแนวโน้ม Q4/62 ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน พร้อมตั้งเป้าปี 63 จัดทัพองค์กร ปักธงบุกตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งตลาดแบรนด์และธุรกิจ OEM หลังตลาดจีนโรงงานเซ็ทอัพแล้วเสร็จ แย้มเตรียมขยายตลาดแบรนด์
มองชู พร้อมออกแบรนด์ใหม่เพิ่ม หนุนสัดส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ยอมรับปี 62 คาดการณ์รายได้จากการขายอยู่ที่ราว 8,500 ล้านบาท สาเหตุหลัก จากยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็งลดลงและค่าเงินบาทแข็งค่า
นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจไตรมาส 4/2562 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และคาดการณ์รายได้จากการขายทั้งปีทำได้ราว 8,500 ล้านบาท เนื่องจาก ผลประกอบการรวมกลุ่มบริษัท ASIAN ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า และยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็งลดลงเป็นสำคัญ
จากนโยบายเลิกขาย Frozen Commodities ไปตลาด US อีกทั้งแผนขยายการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงในปีนี้ไม่เพิ่มตามเป้า
ภาพรวมธุรกิจในปี 2563 ASIAN เตรียมเปิดเกมรุกเดินหน้าขยายตลาด และโฟกัสธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไร โดยจะมีการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ ขยายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง จากการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ทั้งในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกและแบบเม็ด รวมถึงขยายไปยังแบรนด์ของตนเอง ภายใต้ตราสินค้า มองชู (monchou) พร้อมเตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่อีกช่วงต้นปีหน้า รับภาพรวมตลาดที่ยังคงเติบโต เพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสดังกล่าว การก่อสร้างคลังสินค้าระบบอัตโนมัติของ ASIAN ดำเนินการแล้วเสร็จ
มีกำหนดการทดสอบระบบในปลายเดือนธันวาคม กำหนดเริ่มใช้เดือนมกราคมปี 2563 รวมทั้ง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ASIAN ได้เข้าไปถือหุ้น 51% ของบริษัท ชางตง ไท่หย่า เหม่ยซื่อเพ็ท ฟู้ด จำกัด ในประเทศจีน ซึ่งบริษัทนี้มีกำลังการผลิตอาหารสุนัขและแมวอยู่ที่ประมาณ 20,000 ตันต่อปี ปัจจุบันผลิตให้กับเจ้าของแบรนด์ในประเทศจีน และได้เริ่มดำเนินการโครงการปรับปรุงมาตรฐานด้านคุณภาพและการขอใบรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพสากลแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1/2563 เปิดโอกาสให้โรงงานสามารถรับจ้างแบรนด์ระดับนานาชาติผลิตเพื่อขายในประเทศจีนได้
ในขณะที่ธุรกิจทูน่า มีตลาดเป้าหมายชัดเจน ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำยังเน้นเติบโตร่วมกับลูกค้าที่มีศักยภาพ พัฒนาคุณภาพ และพัฒนาลูกพันธุ์เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรที่เป็นคู่ค้า ส่วนธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง ยังเน้นขยายไปยังตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มเพิ่มมูลค่า
จากงวดไตรมาส 3/2562 สัดส่วนยอดขายเชิงปริมาณของธุรกิจมี 5 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง มีสัดส่วนราว 41% ธุรกิจทูน่า 13% ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและปลาป่น มี 27% ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 14% และธุรกิจจัดจำหน่าย 5% ของยอดขายทั้งหมด
"เรามองว่าในปีนี้ ภาพธุรกิจของ ASIAN ยังไม่สะท้อนแนวทางการเติบโตที่เราจะมุ่งไปในอนาคต จึงเตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในปี 2563 โดยเฉพาะโฟกัสธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่เรามั่นใจว่าจะหนุนผลประกอบการให้เติบโตสูงขึ้นทั้งรายได้และอัตรากำไรที่ดี อีกทั้ง การปรับขึ้นราคาในไตรมาส 4/2562 สนับสนุนสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจกลุ่มนี้ให้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี มีอัตรากำไรที่ดีขึ้น และจะส่งผลบวกได้ไปจนถึงปีหน้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองว่าในปี 2563 บริษัทฯ มีรากฐานพร้อมสำหรับขยายตลาดในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงได้อย่างมีนัยยะ ทั้งการจับมือพันธมิตร การปรับปรุงการผลิต แผนการตลาด ตลอดจนการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง" นางสาววรัญรัชต์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นอนุมัติการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิมบริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยยังคงใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ ASIAN เพื่อสะท้อนภาพธุรกิจที่ขยายตัวและเปลี่ยนแปลงไป เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารสู่สาธารณะให้เหมาะสม ทันสมัย และยังคงเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของบริษัทฯ