กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ก.ล.ต.
ตามที่ ก.ล.ต. ได้เสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้พิจารณาขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 และได้มีการเจรจากันมาอย่างต่อเนื่อง นั้น บัดนี้ ธปท. ได้มีหนังสือแจ้ง ก.ล.ต. อนุมัติเพิ่มเติม ดังนี้
1. อนุมัติวงเงินเพิ่มให้ ก.ล.ต. อีก 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อรวมกับวงเงินการลงทุนใน หลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. ได้อนุมัติไว้แล้ว และวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ส่วนที่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (เดิม ธปท. เป็นผู้อนุมัติให้ผู้ลงทุนโดยตรง) คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ ก.ล.ต. จัดสรรวงเงินการลงทุนในรูปแบบต่างๆ และการโอนเงินออกต่างประเทศ ดังนี้
1.1 กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
1.2 บุคคลทั่วไปที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) หรือลงทุนตรงผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)
1.3 บริษัทในต่างประเทศมาจดทะเบียนเพื่อระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยในบริษัทต่างประเทศดังกล่าวที่ร้อยละ 25
1.4 การออกตราสารทางการเงินสกุลบาทที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น Transferable Custody Receipt (TCR)
2. อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่าน บล. ในฐานะนายหน้าหรือผู้ค้าได้ โดยให้ลงทุนได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนใน Regulated Exchange หรือ Sovereign Bond เท่านั้น ทั้งนี้ บล. จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ ธปท. เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดูแลเงินลงทุนให้อยู่ในวงเงินที่ ธปท. อนุมัติ ซึ่ง ก.ล.ต. จะออกหลักเกณฑ์ และซักซ้อมความเข้าใจต่อไป
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยในการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนในภูมิภาคและเป็นช่องให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถพัฒนาแนวทางการทำธุรกิจใหม่ๆ ได้มากขึ้น จึงขอแนะนำให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ใช้โอกาสนี้ในการวางแผนธุรกิจในอนาคตต่อไป”