กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--โครงการสื่อสารแผนงานระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส.
โครงการก่อการครู ภายใต้โครงการผู้นำแห่งอนาคต ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ จัดงาน "ครูปล่อยแสง ปี 2" เปิดพื้นที่ให้คุณครูและผู้สนใจด้านการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมกับชวนสังคมตั้งคำถาม "การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความย้อนแย้งของการศึกษาไทย เป็นไปได้จริงหรือ?" ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ผู้อำนวยการโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า "โครงการก่อการครูเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. คือ โครงการผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือการร่วมสร้างและพัฒนาผู้นำกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม และเราเชื่อว่า 'ครู' คือบุคคลสำคัญที่หากเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในครูได้ จะทำให้เกิดผลกระทบที่ดีกระเพื่อมต่อในวงกว้าง ไม่ว่าจะต่อเพื่อนครู หรือนักเรียน ดังนั้นโครงการก่อการครูจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนพัฒนาครู ให้ครูได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นำสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตัวครูเองและในห้องเรียนของคุณครู"
โครงการก่อการครู แบ่งระยะการเรียนรู้เป็น 4 โมดูล โมดูลที่ 1 ครูคือมนุษย์ เป็นกระบวนการพาครูย้อนกลับไปฟื้นคืนจิตวิญญาณของความเป็นครู โมดูลที่ 2 คือ ตลาดวิชา เปิดโอกาสให้ครูได้เสริมศักยภาพ ออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดความสุขระหว่างครูกับนักเรียน โมดูลที่ 3 ครูคือกระบวนกร เป็นการเปิดโอกาสให้ครูนำไปใช้ในประสบการณ์จริง และครูปล่อยแสง คือโมดูลสุดท้าย ที่คุณครูจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้และประสบการณ์จริงจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในตนเองและในห้องเรียนมาแบ่งปันกัน
ภายในงานช่วงเช้า มีการเปิดเวที Ed Talk โดยเครือข่ายครูแกนนำรุ่นที่ 2 จากโครงการครู จำนวน 4 ท่านซึ่งเป็นครูจากห้องเรียนที่หลากหลาย มาแบ่งปันประสบการณ์ในหัวข้อ 'ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทย' จากนั้นจึงเข้าสู่เวทีเสวนา 'การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความย้อนแย้งของการศึกษาไทย' โดยมีผู้นำทางความคิดจากหลากหลายวงการมาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางและความหวังในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ทั้งจากภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ รวมถึงภาคสังคมและสื่อมวลชน
ส่วนในช่วงบ่าย มีการเปิดห้องเรียนรู้ 13 ห้องเรียนที่ออกแบบโดยครูแกนนำโครงการก่อการครู ให้คุณครูและผู้เข้าร่วมงานที่สนใจได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มพูนศักยภาพ เทคนิคกระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้เกมเพื่อสร้างการเรียนรู้ กระบวนการความคิดสร้างสรรค์ ประเด็นภาวะซึมเศร้า ฯลฯ ทั้งนี้ได้รับความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจากคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก