กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF (Atrial Fibrillation) หรือหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว เป็นอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุดในทางการแพทย์ เป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจห้องบนที่รุนแรงที่สุด
เมื่อเกิดอาการ AF โดยเฉพาะหัวใจห้องบน กล้ามเนื้อหัวใจที่เต้นไม่ประสานกันแบบผิดจังหวะจะทำให้การไหลเวียนเลือดในห้องหัวใจไม่มีประสิทธิภาพ มีเลือดค้างในห้องหัวใจ ในระยะยาวผนังห้องหัวใจอาจเกิดเป็นถุงที่มีเลือดไม่ไหลเวียนตกค้างอยู่ จนเกิดลิ่มเลือดแข็งตัว ที่มีโอกาสหลุดออกไปอุดตันเส้นเลือดในอวัยวะสำคัญเช่น หลอดเลือดปอด หรือหลอดเลือดสมอง จนเกิดอันตรายถึงชีวิตหรือพิการได้
สาเหตุของการเกิด AF นั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จากความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ แต่สำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่านั้นอาจมาจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด ผู้ที่เริ่มเป็น AF จะมีอาการเป็นๆ หายๆ ในช่วงสั้นๆ จึงทำให้ไม่คิดว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเองจึงไม่ได้ใส่ใจ ซึ่งหากทิ้งไว้ไม่รักษาอาการก็จะเป็นบ่อยขึ้น นานขึ้น และอาจอันตรายถึงชีวิตได้
การรักษา AF โดยทั่วไปทำได้ด้วยการทานยาเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วเกินไป ในรายที่รักษาด้วยการทานยาไม่ได้ผลหรือเกิดผลข้างเคียงจากการทานยาหรือไม่ต้องการทานยาไปตลอดชีวิต อาจต้องรักษาโดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ วิธีนี้ทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เป็นการรักษาที่ทำให้ AF หายเป็นปกติได้