กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน ระดมเยาวชนทั่วประเทศ เตรียมแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ 25 สาขา ช่วงวันที่ 18-20 มีนาคม 2563 ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ เวทีสู่ระดับนานาชาติ
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานมีตั้งแต่ ระดับภาค ระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ ทุกระดับมีกำหนดจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี สำหรับในปี 2563 จะเป็นการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2563 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ จำนวน 25 สาขา ได้แก่ (1) เมคคาทรอนิกส์ (2) เขียนแบบวิศกรรมเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ (3) เครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) (4) เครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด) (5) เทคโนโลยีงานเชื่อม (6) อิเล็กทรอนิกส์ (7) หุ่นยนต์เคลื่อนที่ (8) มาตรวิทยาด้านมิติ (9) ระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (10) เทคโนโลยีสารสนเทศ (11) เว็บดีไซน์ (12) จัดดอกไม้ (13) แฟชั่นเทคโนโลยี (14) กราฟิกดีไซน์ (15) เทคโนโลยี ยานยนต์ (16) สีรถยนต์ (17) ปูกระเบื้อง (18) เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร (19) ก่ออิฐ (20) ไม้เครื่องเรือน (21) ต่อประกอบมุมไม้ (22) เทคโนโลยีระบบทำความเย็น (23) แต่งผม (24) ประกอบอาหาร และ (25) บริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันจะศึกษาในสถาบันการศึกษาหรือทำงานในสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ชนะลำดับที่ 1 ของแต่ละสาขาในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติระดับภาค ครั้งที่ 28 จำนวน 348 คน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เยาวชนที่ชนะเลิศการแข่งขันครั้งนี้จะมีโอกาสเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ สิงคโปร์ และระดับนานาชาติต่อไป
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "เตรียมการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28" โดยเชิญคณะทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาเพื่อระดมความคิดเห็น ในการจัดทำรายละเอียดทางเทคนิค ได้แก่ ข้อสอบ กฎ กติกา หลักเกณฑ์การให้คะแนน รายการวัสดุ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานและเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติได้มีการประยุกต์ใช้รูปแบบ เนื้อหา กฎระเบียบ นวัตกรรม และเทคโนโลยีตามมาตรฐานสากลจากการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติครั้งที่ 45 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-27 สิงหาคม 2562 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งส่งผลดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ของกระบวนการทำงานที่ได้มาตรฐานสากลสู่เยาวชนไทยผ่านเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงาน จะทำให้มีการพัฒนาทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สอดคล้องกับนโยบาย Workforce transformation ของม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งปฏิรูปกำลังแรงงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต
"กิจกรรมแข่งขันฝีมือแรงงานในทุกระดับ ก่อให้เกิดผลดีด้านการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ ผลการแข่งขันแต่ละครั้งบ่งบอกถึงศักยภาพของกำลังแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเวียนเข้าสู่ประเทศ ก่อให้ความความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริการ" อธิบดีกพร. กล่าว