กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่นักวิชาการเสนอแนะแนวทางจัดการขยะ โดยระบุควรมีกฎหมายการจัดการขยะที่ครอบคลุม รวมทั้งควรแก้ปัญหาขยะในคลองด้วย นั้น ที่ผ่านมา กทม. ให้ความสำคัญกับการจัดการมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้ส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด ในชุมชน สถานที่ราชการ และทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. โดยตั้งถังรองรับมูลฝอย แยกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ มูลฝอยเศษอาหาร มูลฝอยรีไซเคิล มูลฝอยอันตรายจากชุมชน และมูลฝอยทั่วไป ส่วนในพื้นที่สาธารณะ ได้ตั้งถังรองรับมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยรีไซเคิล กว่า 2,080 จุด อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งกำหนดเวลาทิ้งขยะในถนนสายหลัก สายรอง ในเวลา 18.00 - 03.00 น. และจัดเก็บให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 05.30 น. ส่วนถนนตรอก ซอย เก็บสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง ตามปริมาณและประเภทมูลฝอยเพื่อไม่ให้มีมูลฝอยตกค้าง อีกทั้งได้กำหนดวันเก็บมูลฝอยตามประเภท ทั้งมูลฝอยรีไซเคิล มูลฝอยอันตราย และมูลฝอยชิ้นใหญ่ ซึ่งจัดเก็บทุกวันอาทิตย์หรือนัดหมายตามประกาศแจ้งของสำนักงานเขต โดยจะรวบรวมนำไปกำจัดอย่างเหมาะสมด้วยเทคโนโลยีกำจัดที่ทันสมัย ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันได้สร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมจัดการมูลฝอยให้กับประชาชน โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชน จัดกิจกรรมให้ความรู้ สาธิตการคัดแยกมูลฝอยเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ในปี 2562 กทม. ยังได้ขยายผลการจัดทำโครงการ "วน" เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงโครงการความร่วมมือกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อตั้งจุดรวบรวมมูลฝอยอันตรายจากชุมชน นอกจากนั้น ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์สร้างจิต สำนึกให้ประชาชน สถานประกอบการที่อยู่ริมคลอง รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีส่วนร่วมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม คัดแยกมูลฝอยก่อนทิ้ง ไม่ทิ้งมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ขณะเดียวกันได้จัดหาเรือ เช่น เรือกำจัดวัชพืช เรือกวาดเก็บมูลฝอยและวัชพืช เพื่อใช้จัดเก็บขยะ วัชพืชในแม่น้ำ ตลอดจนเพิ่มจำนวนการจัดวางแพลูกบวบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะและป้องกันขยะไปอุดตันที่ประตูระบายน้ำ