กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สำนักงาน กปร.
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2525 สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี
ล่าสุดนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานจากผู้แทนกรมชลประทาน และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายบันทม สมสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูซาง ได้รายงานแก่องคมนตรีและคณะอนุกรรมการว่า อ่างเก็บน้ำห้วยไฟ เป็นอ่างเก็บน้ำที่จะได้รับน้ำจากป่าคิดเป็นพื้นที่ 8,560 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูซาง 4,940 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ 3,110 ไร่ ปัจจุบันป่ามีความสมบูรณ์ร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ทำกินของราษฎร และยินดีให้ปลูกป่า ซึ่งในอนาคตพื้นที่ป่าแหล่งต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำภูซางก็จะเป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์
และการนี้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้กล่าวกับราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะกรรมการติดตามขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งหมายรวมถึงโครงการของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน" นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีกล่าว
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไฟฯ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2525 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีขนาดความจุ 825,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือราษฎรได้ 2 ตำบล คือ ตำบลป่าซาง และตำบลป่าสัก จำนวน 8 หมู่บ้าน รวม 893 ครัวเรือน ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน จำนวน 3,000 ไร่ ช่วงฤดูแล้ง จำนวน 2,000 ไร่ ทำให้ราษฎรสามารถปลูกข้าวนาปี พันธุ์ กข.6 ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยถึง 650 กิโลกรัมต่อไร่ รวมถึงปลูกกระเทียม ถั่วลิสง และข้าวโพด ซึ่งให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และอยู่ในแผนของการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มศักยภาพการเก็บกักและส่งน้ำสู่พื้นที่ใช้ประโยชน์ของราษฎร
มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำมากถึง 18 กลุ่ม มีสมาชิก 401 ราย มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการรองรับการเพิ่มศักยภาพเพื่อการเก็บกักน้ำและส่งน้ำที่จะเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี แสดงถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม จนได้รับพระราชทานโล่ห์รางวัลชนะเลิศด้านการบริหารจัดการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ปี พ.ศ.๒๕๔๙ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงาน กปร. นับเป็นรางวัลสูงสุดที่กลุ่มฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำให้แก่กลุ่มฯ อื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาและนำไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดี