กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มท.1 สั่งการ ปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562 -2563 โดยใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการสำรวจและจัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง การกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ พร้อมระดมสรรพกำลังให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วถึง มุ่งดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นภัยแล้ง ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น แต่หลังจากสิ้นสุดฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ประเทศไทยตอนบน มีการกระจายของฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ อาจส่งผลให้บางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รัฐบาลจึงได้สั่งการให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงรุก ภายใต้กลไกระบบบัญชาการณ์เหตุการตามกฏหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มุ่งเน้นบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดผ่านมาตรการช่วยเหลือที่สอดกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ทั้งการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน การปฏิบัติการฝนหลวง และการขุดเจาะบ่อบาล รวมถึงมุ่งดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2562 – 2563 ภายใต้การดำเนินงานของ 3 กลุ่มภารกิจหลัก ดังนี้ 1.กลุ่มพยากรณ์ จัดตั้งคณะทำงานติดตามสภาพอากาศ ปริมาณน้ำท่า และสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บน้ำเพื่อวิเคราะห์และประเมินปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำ 2.กลุ่มบริหารจัดการน้ำ จัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานทำหน้าที่วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและครอบคลุมการใช้น้ำทุกประเภท ทั้งการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงกำหนดแนวทางการระบายน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ 3.กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ บูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน รวมถึงจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ย ทั้งนี้ ทั้ง 3 กลุ่มภารกิจหลักจะขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรอบด้าน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำรวจและจัดทำบัญชี พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ รวมถึงจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรองการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล การสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบผลิตน้ำประปา อีกทั้งพัฒนาพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงให้เป็นแหล่งเก็บน้ำถาวร ควบคู่กับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน ให้คุณภาพน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ น้ำเพื่อการเกษตร สนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่ตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งประสานการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ เฝ้าระวังและคุมเข้มไม่ให้มีการปล่อยน้ำเน่าเสียลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย รวมถึงสำรวจเส้นทางคมนาคมเลียบคลอง ลำน้ำ หรือแม่น้ำ เพื่อวางมาตรการป้องกันการพังทลายของตลิ่ง สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ควบคู่กับการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างและซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก