กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชโคราช จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อบรมพยาบาลวิชาชีพประจำรพ.ชุมชนและรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ใน 4 จังหวัดอีสานล่าง จำนวน 30 คน เป็นพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน เพิ่มการเข้าถึงบริการผู้เจ็บป่วยหรือมีปัญหาทางจิตใจ สามารถตรวจคัดกรองแยกผู้มีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งบางคนอาจมีอาการแสดงคล้ายโรค ทางกายได้ เช่น จุกแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจขัด เวียนศีรษะ เพื่อเข้าสู่การดูแลรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ในฐานะที่เป็นรพ.เชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่ข่ายจัดระบบบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จะเน้นการเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีมาตรฐาน เพื่อให้หายขาดหรือทุเลา สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ ประเด็นที่ให้ความสำคัญควบคู่กันคือการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในรพ.ชุมชน และรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลที่เป็นเครือข่ายบริการให้สามารถรับมือกับปัญหาในพื้นที่ ได้อย่างทันการ โดยได้ร่วมมือกับสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดอบรมพยาบาลวิชาชีพจำนวน 30 คน ให้เป็นพยาบาลเฉพาะทางมีความเชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน สามารถให้บริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตในขั้นไม่รุนแรงได้อย่างครบวงจร
"การเพิ่มพยาบาลเฉพาะทางในรพ.ชุมชนหรือที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล จะเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่อยู่ในหมู่บ้านชุมชนได้มากขึ้น เนื่องจากอยู่ใกล้บ้าน ขณะเดียวกันอาการของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตบางโรค บางคน เช่นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโรคแพนิค (Panic) อาจมีอาการคล้ายป่วยทางกาย เช่น มีอาการหายใจขัด หายใจไม่อิ่ม จุกแน่น เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม ใจสั่น
ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางกาย แต่เมื่อตรวจร่างกายแล้ว มักจะไม่พบความผิดปกติ จึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเวชให้บุคลากรด้วย เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือคัดกรองค้นหาผู้ป่วยทางจิตเวชและให้การดูแลรักษา ที่ถูกต้อง เพราะหากเข้าถึงได้เร็ว ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสหายป่วยได้สูงขึ้น ไม่กลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง หากรายใดอาการรุนแรงจะมีระบบส่งต่อเชื่อมโยงดูแลรักษาในรพ.จังหวัดหรือรพ.ศูนย์ในพื้นที่หรือที่รพ.จิตเวชฯ จนอาการทุเลาลง" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
ทางด้านนางกุศลิน กัณหา หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพยาบาล รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า การอบรมพยาบาลเฉพาะทางฯ ครั้งนี้ นับเป็นรุ่นที่ 2 ใช้เวลาอบรม 4 เดือน จะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 -พฤษภาคม 2563 สาระหลักจะเน้นการพยาบาลดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช การตรวจประเมินสภาวะทางจิต การบำบัดทางจิตใจและสังคม การดูแลต่อเนื่องในชุมชน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะดูแลในภาคทฤษฎี ส่วนรพ.จิตเวชฯจะดูแลในภาคปฏิบัติเพื่อเกิดทักษะและประสบการณ์ตรงโดยมีเครือข่ายบริการร่วมฝึกทักษะด้วยเช่นรพ.สีคิ้ว รพ.โนนสูง หรือที่รพ.ชุมชนต้นสังกัด เพื่อให้สามารถให้บริการเบื้องต้นแก่ประชาชนอย่างมีมาตรฐาน โดยในปีที่ผ่านมามีพยาบาลที่ปฏิบัติงานในรพ.ชุมชนและรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลใน เขตสุขภาพที่ 9 ผ่านการอบรมไปแล้ว 23 คน
ทั้งนี้ บทบาทของพยาบาลเฉพาะทางสาขาสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน ยังทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในการดูแลติดตามเยี่ยมอาการผู้ป่วยจิตเวชทุกรายภายหลังได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูจาก รพ.จิตเวชฯหรือรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ที่แพทย์ประเมินว่าอาการทุเลาดีแล้ว และอนุญาตให้กลับไปอยู่บ้านได้ ซึ่งมีประมาณร้อยละ95 ของผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด
เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำ ในปีที่ผ่านมา รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้ส่งผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงซับซ้อน ที่อาการดีแล้วเพื่อดูแลต่อเนื่องในชุมชน จำนวนเกือบ 3,000 ราย