กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวตามที่คอลัมนิสต์นำเสนอบทความสังคมสูงวัย โดยระบุจากการคาดการณ์ของสภาพัฒน์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ซึ่งภาครัฐจะต้องเตรียมรองรับโดยเฉพาะในเรื่องรายได้และสวัสดิการของผู้สูงอายุว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 (พ.ศ.2561 - 2564) เพื่อให้หน่วยงานของ กทม. มีกรอบทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างบูรณาการ ซึ่งแผนดังกล่าว ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมทุกช่วงวัยเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ พัฒนาระบบคุ้มครองผู้สูงอายุและพิทักษ์สิทธิ์ขั้นพื้นฐาน การบูรณาการเพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุ และการนำข้อมูล ผลการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของ กทม. ขณะเดียวกันยังได้สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กลุ่มผู้สูงอายุ โดยขอความร่วมมือสำนักงานเขตคัดเลือกผู้สูงอายุที่มีผลงานภูมิปัญญาควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดในพื้นที่เขต ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับการคัดเลือกเป็นภูมิปัญญาผู้สูงอายุ จะได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่สังคม เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้าเรียนหรือฝึกอาชีพในโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ทั้ง 10 แห่ง ส่งเสริมผลิตภัณฑ์บางกอกแบรนด์ (Bangkok Brand) จากผู้ผลิตที่เป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งให้ความรู้การใช้งานเว็บไซต์ ww.oldisyounginbkk.com แก่ผู้สูงอายุ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น กทม. ยังจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ จัดให้มีช่องทางเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุแยกจากผู้รับบริการทั่วไปที่แผนกผู้ป่วยนอกในศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 9 แห่ง ประชาสัมพันธ์ข่าวสารเพื่อผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชัน กทม. Connect คอลัมน์เกี่ยวกับผู้สูงอายุในเว็บไซต์สำนักงานประชาสัมพันธ์ กิจกรรมสร้างสุขด้วยการอ่านกับผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ตลอดจนสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต จัดให้มีช่องบริการด่วนพิเศษ ด้านทะเบียนราษฎรสำหรับผู้สูงอายุและจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ จัดอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (care giver) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e - Social welfare) เป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม