กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--สกสว.
จังหวัดสมุทรสงครามจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมเป็นอันดับต้นๆของประเทศ เพราะความโดดเด่นของระบบนิเวศที่หลากหลาย แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทำการเกษตรเช่นที่
ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนผลไม้ที่มีลักษณะเป็นสวนยกร่อง คือ มีการขุดคลองซอย หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า "ลำประโดง" เชื่อมกับคลองใหญ่เพื่อผันน้ำเข้าร่องสวน โดยในการขุดคลองลำประโดง คนในชุมชนจะมาช่วยกันขุด เพราะ "ลำประโดง" ถือเป็นทางน้ำสาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ปัจจุบันน้ำในลำคลองและลำประโดงของตำบลบางสะแกเริ่มมีปัญหาน้ำไหลไม่สะดวก ทำให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ร่องสวนไม่เพียงพอต่อการเกษตร ขณะเดียวกันน้ำที่ไหลเข้าสู่ร่องสวนก็ไม่สามารถไหลออกมาได้ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำขังและเน่าเสียตามมา ส่งผลถึงปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมถึงยังเผชิญกับปัญหาที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปสู่คนนอกพื้นที่ มีการถมที่ดินไปทำอย่างอื่น ประกอบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนบางสะแกเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรมีอายุมากขึ้น คนวัยกลางไม่สนใจอาชีพเกษตรกรรม คนหนุ่มสาวออกไปเรียนและทำงานนอกพื้นที่ ทำให้ลำประโดงถูกละเลย สภาพน้ำในลำประโดงถูกอุดตัน ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุมกีดขวางเส้นทางไหลของน้ำ ส่งผลกระทบแก่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง
ตำบลบางสะแก มีพื้นที่ทั้งหมด 3,409 ไร่ 5.42 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 – 2 บ้านบางสะแกใหญ่ หมู่ที่ 3 บ้านบางน้ำผึ้ง หมู่ที่ 4 บ้านบางขุน หมู่ที่ 5 บ้านคลองซื่อ หมู่ที่ 6 บ้านบางสะแกพัฒนา และหมู่ที่ 7 บ้านบางสะแกน้อย มีประชากรทั้งสิ้น 2,034 คน 702 ครัวเรือน มีประชากรที่อาศัยอยู่จริงเพียง 1,534 คนเท่านั้น ร้อยละ 35.98 ของประชากรทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม
นายมนัส บุญพยุง กำนันตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ด้วยพื้นที่ตำบลบางสะแก ห่างจากปากแม่น้ำแม่กลองประมาณ 20 กิโลเมตร จึงได้รับอิทธิพลการขึ้น-ลงของน้ำทะเลตามธรรมชาติ ประกอบกับระบบสายน้ำหรือคลองในพื้นที่มีความซับซ้อน มีทั้งคลองใหญ่ คลองย่อย คลองซอย หรือลำประโดง หากมองจากมุมเบิร์ดอายวิวจะพบว่า มีลักษณะเหมือนตารางหมากรุก ซึ่งคือเส้นน้ำ
"ด้วยสภาพพื้นที่ตำบลบางสะแกเป็นที่ราบลุ่มมีคลองแควอ้อมเป็นคลองที่รับน้ำเข้ามาจากแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านเข้าพื้นที่เป็นร่องสวน มีทั้งสวนมะพร้าว กล้วย ส้ม ลิ้นจี่ ส้มโอ และส้มแก้วที่มีปลูกได้แห่งเดียวในพื้นที่ ขนาดคลองมีความลึกประมาณ 12 เมตร ถัดมาจะเป็นคลองซอย ที่มีความลึกประมาณ 6 เมตร ออกจากคลองซอยก็จะเป็นลำประโดง มีความลึกเพียง 3 เมตร แต่เพราะพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เกษตรกรจะใช้น้ำได้ตอนที่น้ำทะเลหนุนสูง คือจะใช้น้ำได้ตอนน้ำขึ้นเท่านั้น ตอนน้ำลงน้ำจะแห้งคลองใช้ไม่ได้ประกอบกับมีคลองซอยมาก และมีปัญหาคลองในพื้นที่น้ำเข้าไม่ถึง ต่างจากการทำเกษตรโดยทั่วไปที่จะใช้น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำ หรือน้ำจากคลองส่งน้ำในเขตโครงการชลประทาน เกษตรกรก็สามารถสูบน้ำเข้ามาในพื้นที่สวนไร่นาได้ จึเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ"
กำนันมนัส เล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้ทางชุมชนได้ทำกิจกรรมลงแขกลงคลอง ซึ่งเป็นนโยบายจังหวัดสมุทรสงครามในสมัยนั้นที่ให้แต่ละตำบลจัดทำกิจกรรมลงแขกลงคลองเพื่อแก้ปัญหาผักตบชวาตามลำคลอง ทำให้พบปัญหาว่าน้ำเข้าไม่ถึงคลองในพื้นที่ ประกอบกับทางศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม เข้ามาเห็นการทำกิจกรรมของชุมชน แล้วเกิดคำถามว่า "กำนันทำลงแขกลงคลองแล้ว กำนันรู้ไหมในพื้นที่มีคลองกี่สาย มีลำประโดงกี่สาย ซึ่งเราก็เออ..ไม่รู้เหมือนกัน"
จึงเป็นที่มาของการทำ "โครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองและลำประโดงที่เชื่อมโยงกับการจัดทำผังเมืองระดับตำบล เพื่อวางแผนการพัฒนาอาชีพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม" โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา โดยโครงการฯ นี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องและขยายผลมาจากการดำเนินโครงการการจัดทำแผนเพื่อความมั่นคงด้านน้ำจังหวัดสมุทรสงคราม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาในการจัดการน้ำและความต้องการใช้น้ำในลำคลองและลำประโดงตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ระบบน้ำในชุมชน เพื่อค้นหาปัจจัยและเงื่อนไขการจัดการน้ำในลำคลองและลำประโดงในตำบลบางสะแก นำมาจัดทำ "ผังน้ำระดับตำบล" เพื่อค้นหารูปแบบการจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกับการจัดทำผังเมืองระดบตำบล เพื่อวางแผนการพัฒนาอาชีพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนครอบคลุมพื้นที่ 7 หมู่บ้าน และสามารถนำเสนอข้อมูลในการศึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญเพื่อรื้อฟื้นคุณค่าการจัดการน้ำในลำประโดงเชื่อมโยงไปสู่การดูแลรักษาระบบนิเวศสามน้ำของคนในตำบลบางสะแกและจังหวัดสมุทรสงครามต่อไป
กำนันมนัส กล่าวยอมรับว่า "จากที่เป็นกำนันมากว่า 3 ปี แต่กลับไม่เคยรู้ข้อมูลบริบทของพื้นที่ ไม่เคยรู้ว่าทุกหมู่บ้านมีปัญหาเรื่องน้ำในลำประโดง กระทั่งได้มาเข้าทำงานวิจัยกับทาง สกสว. ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดระบบความคิด กระบวนการจัดเก็บข้อมูล และได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ หลังจากลงพื้นที่สำรวจทั้ง 7 หมู่บ้าน จึงพบว่า ทุกหมู่บ้านประสบปัญหาเดียวกัน คือ เรื่องน้ำในลำประโดงตื้นเขิน"
ด้าน นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ในฐานะผู้ประสานงานจากศูนย์วิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สกสว. กล่าวถึงกระบวนการดำเนินงานว่า โครงการฯ มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นทั้ง 7 ขั้นตอน คือ ตั้งแต่การค้นหาทีมนักวิจัย การสร้างความเข้าใจ การออกแบบการวิจัย การจัดการข้อมูลและการถอดและสรุปบทเรียนเพื่อเสริมพลังและคุณค่าจากการนำข้อมูลไปสู่การแก้ไขปัญหา
ซึ่งในพื้นที่ตำบลบางสะแกน มีทุนสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติของบ้านทรงไทยริมคลองและสวนลิ้นจี่ ส้มโอขาวใหญ่ และส้มแก้วที่สามารถปลูกได้แห่งเดียวที่ตำบลบางสะแกเท่านั้น ประกอบกับประสบการณ์การจัดการน้ำร่วมกันของคนในพื้นที่จากการทำกิจกรรมลงแขกลงคลองอย่างต่อเนื่อง นับเป็นจุดเด่นสำคัญ จนสามารถรักษาคุณภาพน้ำที่ดี เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และพักผ่อน ทำให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา
ปัจจุบันทีมวิจัยชุมชนได้ชักชวนคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูลลำคลองและลำประโดงในพื้นที่ ทำให้เห็นรายละเอียดและจำนวนของลำคลองและลำประโดงเพิ่มขึ้นกจากเดิมที่มี 20 ลำคลอง 44 ลำประโดง เป็น 20 ลำคลอง 72 ลำประโดง พร้อมทั้งลักษณะทางกายภาพและจัดทำข้อมูลผ่านโปรแกรม QGIS ให้เป็นปัจจุบันร่วมกับการจัดทำผังน้ำระดับตำบลที่มีการแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์จากทื่ดิน ทั้งพื้นที่ส่วนราชการ พื้นที่สาธารณะ สวนเกษตร และลำคลองลำประโดงที่ต้องช่วยกันบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการดำเนินงานพบว่า ลำประโดงส่วนใหญ่เป็นลำประโดงสั้นๆ ที่ถูกปิดกั้นจากการถมที่สร้างถนน และการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ และการจัดการน้ำที่ไม่ถูกวิธี นอกจากนี้ยังพบว่ากระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการจัดการน้ำ เนื่องจากการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัญไม่ได้มีการเก็บรวบรวมและสะท้อนถึงข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำโดยตรง ทำให้การจัดทำแผนที่ผ่านมายังไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมและมีข้อมูลอย่างรอบด้าน
กำนันมนัส กล่าวว่า หลังการสืบค้นประวัติศาตสตร์ชุมชน นำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ชุมชนร่วมกันสำรวจลำคลองและลำประโดง โดยผ่านการทำกิจกรรมลงแขกลงคลอง มีการนำเครื่องมือ GPS มาใช้ในการสำรวจเส้นลำคลอง และจัดเก็บข้อมูลของขนาดความกว้างยาวอย่างละเอียด จนได้รูปร่างของลำประโดงที่ชัดเจนขึ้น เพื่อจัดทำเป็น"ฐานข้อมูลแผนที่หรือผันน้ำชุมชน"
"จากการเดินสำรวจเส้นทางน้ำด้วย GPS พบว่า มีแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลบางสะแกทั้งหมด 72 สาย และตลอดที่ผ่านมาชุมชนได้ร่วมกันขุดลอกลำคลองและลำประโดง โดยผ่านการทำกิจกรรมลงแขกลงคลองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชุมชนทำมาแล้ว 9 ปีเข้าปีที่ 10 กิจกรรมลงแขกลงคลองจัดขึ้นทุกเดือนๆ ละ 2 ครั้งหมุนเวียนไปทุกหมู่บ้าน เพื่อตรวจสภาพลำคลอง ตั้งแต่ต้นคลองถึงปลายสุดของตำบล ปัจจุบันพื้นที่ตำบลบางสะแกแม้จะไม่พบปัญหาน้ำแห้งคลองเหมือนในอดีต 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่เพราะน้ำคือหัวใจ เพื่อไม่ให้ชุมชนได้รับผลกระทบจากภาวะแล้ง นอกจากกิจกรรมลงแขกลงคลองที่คนในชุมชนร่วมกันทำอย่างต่อเนื่องแล้ว การจัดทำผังน้ำชุมชนจะสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อของบประมาณกับทางจังหวัดนำมาใช้การขุดลอกลำคลองในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือภาวะแล้งที่กำลังจะมาถึงต่อไป"
นายชิษณุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า "แล้ง" ของแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกัน ภาวะแล้งของคนแม่กลอง หมายถึง น้ำในแม่น้ำแม่กลองไม่เข้าร่องสวน ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจจัย คือ 1.ปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่กลองไม่มากพอ กรณีที่น้ำในแม่น้ำมีระดับต่ำกว่าคลองทำให้น้ำจากแม่น้ำมีแรงดันไม่พอ เมื่อน้ำไม่เข้าคลอง สวนก็จะไม่มีน้ำใช้ และ 2. ไม่มีการขุดลอก เกิดการตกตะกอนดิน ทำให้ลำคลองตื้นเขิน เมื่อท้องร่องสูงและมีผักตบชวาวัชพืชกีดขวางในลำน้ำก็ยิ่งทำให้น้ำไหลเข้าไปไม่ถึงร่องสวน ปัญหาเกิดจากขาดการละเลยดูแล จึงไม่ใช่หน้าที่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ หรือ อบต.เท่านั้น แต่รวมถึงชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมด้วย
ดังนั้น การจัดทำระบบฐานข้อมูลหรือที่เรียกว่าผังน้ำชุมชน นอกจากจะมีประโยชน์เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนเรื่องของงบประมาณจังหวัดแล้ว ยังได้ประโยชน์ในเรื่องของเส้นทางท่องเที่ยวตามลำน้ำอีกด้วย นอกจากนี้ยังคาดหวังว่า หากสามารถจัดทำผังเมืองระดับตำบลควบคู่กับการทำผังน้ำตำบลไปพร้อม ๆ กันได้ จะช่วยให้คนในตำบลบางสะแก ยังคงสภาพวิถีชีวิตที่ดี สอดคล้องกับการดูแลรักษาคลองและลำประโดง รวมทั้งจะนำไปสู่การชักชวนคนรุ่นใหม่ให้คืนถิ่นกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรม นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงจากภาคการเกษตร และมีทรัพยากรน้ำที่ดี ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการจัดทำข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่สอดคล้องกับข้อมูลสภาพพื้นที่ต่อไป