กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--มีเดียแอสโซซิเอตเต็ด
คณะกรรมการตัดสินรางวัลเกียรติยศ "นักการเงินแห่งปี" ของ วารสารการเงินธนาคาร มีมติให้ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2562 ซึ่งเป็นการครองรางวัลนักการเงินแห่งปีครั้งที่ 2 หลังจากที่คว้าตำแหน่งนักการเงินแห่งปีเมื่อปี 2544 มาแล้ว ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินแห่งปีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ด้าน เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ สร้างความเติบโตยั่งยืนให้กับองค์กร รับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งโลก ขณะที่ธุรกิจธนาคารในปัจจุบันยังต้องเผชิญหน้ากับ "Digital Disruption" ทำให้การทำธุรกิจธนาคารต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นับเป็นโจทย์สำคัญและเป็นความท้าทายในการหาและสร้างโอกาสการทำธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาทดแทนรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดน้อยลงไปทุกที ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคุณภาพสินเชื่อ และมีมาตรการรับมือกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
คณะกรรมการตัดสินรางวัล นักการเงินแห่งปี มีความเห็นร่วมกันว่า ในสภาวการณ์ดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพ ภายใต้การนำของ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ มีความโดดเด่นและสามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในการรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ด้วยวิสัยทัศน์ของชาติศิริที่ได้เห็นถึง "โอกาส" ของการที่จะ "อยู่" เพื่อทำธุรกิจและให้บริการกับคนรุ่นใหม่ ขณะที่ยังสามารถทำธุรกิจและให้บริการกับฐานลูกค้าเดิมได้ ทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และกลุ่มลูกค้าบุคคล ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรมทางด้านการเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างความเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างมั่นคง
นอกจากนี้ ชาติศิริ ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการเงินของประเทศ โดยเฉพาะการเป็น CEO Sponsor แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของสมาคมธนาคารไทย ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน ผลักดันให้ธนาคารต่างๆ เปิดให้บริการบัญชีเงินฝากพื้นฐาน Basic Banking Account เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและคล่องตัว
ผลงานและความโดดเด่นของ ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นผลให้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลนักการเงินแห่งปี ลงมติให้ ชาติศิริ โสภณพนิช เป็นนักการเงินแห่งปี ประจำปี 2562 Financier of the Year 2019 ซึ่งเป็นการครองตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 หลังจากคว้าตำแหน่งนักการเงินแห่งปีเมื่อปี 2544 มาแล้ว
1. เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย
ด้วยระยะเวลากว่า 25 ปี ในฐานะ "ผู้นำ" ของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกว่า 3.1 ล้านล้านบาท ย่อมบ่งบอกถึงความสามารถ และวิสัยทัศน์ของ ชาติศิริ โสภณพนิช ได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่หลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญหน้ากับ Digital Disruption ซึ่งวิธีคิดของชาติศิริไม่ได้มองว่า Digital Disruption คือ "ภัยคุกคาม" สำหรับธุรกิจ แต่มันคือ "โอกาส" ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเข้าสู่ดิจิทัล (Digitalization) จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาทาง Financial Technology มากมายของธนาคารกรุงเทพ
-โครงการความร่วมมือกับ "R3" พันธมิตรด้านเทคโนโลยีและการเงินระดับโลก ซึ่งธนาคารกรุงเทพคว้าสิทธิ์เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ได้เข้าร่วมในการพัฒนา Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ Blockchain มาตอบสนองต่อการให้บริการทางการเงินที่สำคัญในระบบการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนลูกค้าธุรกิจ
-โครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพสายฟินเทค Bangkok Bank InnoHub Accelerator Program โดยคัดเลือกสตาร์ตอัพสายฟินเทคจากทั่วโลกมาเข้าคอร์สบ่มเพาะแบบเข้มข้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเงินต้นแบบที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีมาสู่การให้บริการจริงกับลูกค้าของธนาคารกรุงเทพที่จะได้สัมผัสผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัยอยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้จัดตั้ง "ฝ่ายนวัตกรรม" โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน ริเริ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านการทดลองทำจริง รวมทั้งกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานภายในเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์เดิมให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
2. เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ
ในฐานะผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างธนาคารกรุงเทพนับเป็นเรื่องสำคัญที่ชาติศิริในฐานะผู้บริหารจะต้องที่จะต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม และมีความสมดุล ตั้งแต่ผู้ถือหุ้นที่ควรได้รับผลตอบแทนการลงทุนอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ผู้บริหารและพนักงานที่สมควรได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ลูกค้าที่พึงได้รับบริการทางการเงินที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล ตลอดจนชุมชนสังคม และประเทศชาติที่พึงได้รับประโยชน์กลับคืนจากองค์กรเช่นกัน
นอกจากบทบาทในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพแล้ว ชาติศิริยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการเงินของประเทศไทย โดยเป็นกรรมการในคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2559-2563 ขณะเดียวกัน ยังเป็น CEO Sponsor แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี สมาคมธนาคารไทย ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อส่งเสริมภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งดูแลรับผิดชอบแผนงานด้านการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงด้วย
3. เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร
ธนาคารกรุงเทพภายใต้การนำของ ชาติศิริ สามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง สามารถขยายสินเชื่อและบริการด้านธุรกรรมของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม นำโดยลูกค้าธุรกิจองค์กรโดยเฉพาะโลจิสติกส์ พลังงาน และธุรกิจบริการ และด้วยฐานะธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคที่มีเครือข่ายสาขาในต่างประเทศครอบคลุมถึง 15 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก ทำให้ธนาคารยังคงสามารถขยายกิจการในส่วนนี้ได้อย่างดี ทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการทั่วภูมิภาคที่ต้องการขยายกิจการข้ามประเทศ การให้คำแนะนำด้านการค้าการลงทุน ด้วยความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดท้องถิ่น
อีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นตลาดสำคัญมากสำหรับธนาคารกรุงเทพคือ ลูกค้าบุคคล ซึ่งธนาคารมุ่งเน้นการนำเสนอรูปแบบการทำธุรกรรมที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกช่วงวัย ผ่านหลากหลายช่องทางทั้งสาขา เอทีเอ็ม บริการธนาคารอัตโนมัติ รวมถึงบริการธนาคารดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และบริการชำระเงินด้วย QR Code
4. เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
ท่ามกลางความตื่นตัวและความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเงิน "ข้อมูล" ถือเป็นหัวใจของจุดเริ่มต้นในการพัฒนา ดังนั้น บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่สถาบันการเงินควรให้ความสำคัญยิ่งในลำดับต้นๆ ไม่แพ้ความสะดวกสบาย ก็คือ การกำกับดูแลข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ชาติศิริจึงได้กำหนดกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยของข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ อีกทั้งยังใช้ระบบการยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอน การตรวจจับภัยคุกคามอัจฉริยะ การวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยและสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
ธนาคารกรุงเทพ ยังเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ได้นำระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีแบบชิปการ์ด มาให้บริการตั้งแต่ปี 2552 ในชื่อ "บัตรเดบิตบีเฟิสต์" (Be1st) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินและป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ก่อนจะเริ่มแพร่หลายและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
ในด้านการดำเนินธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพยังได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอยู่เสมอ เช่น ความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช ในการเปิดให้บริการบัตร บีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น แรบบิท ศิริราช และบัตรเครดิตวีซ่าแพลทินัม แรบบิท ศิริราช ธนาคารกรุงเทพ ที่ผสมผสานระหว่างการใช้บริการทางการเงินเข้ากับการร่วมแบ่งปันผ่านการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ด้านการดูแลและพัฒนาบุคลากรอย่างเหมาะสม นับเป็นอีกหนึ่งมิติของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ธนาคารกรุงเทพและชาติศิริให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะบุคคลถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งต่อองค์กร โดยต้องสรรหาและพัฒนาบุคลากรให้สามารถอยู่ในอาชีพได้อย่างยั่งยืน เน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพสูง มีธรรมาภิบาล และการปฏิบัติตามหลักจริยธรรม