กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
บีโอไอ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เร่งใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อาศัยโอกาสช่วงเงินบาทแข็งค่า ยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เตรียมพร้อมรับมือการแข่งขันในอนาคต
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน นอกจากจะให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนแล้ว บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่สิทธิประโยชน์หมดแล้ว หรือกิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยไม่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ และต้องการพัฒนาหรือปรับปรุงการผลิตให้ทันสมัยหรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในภาวะที่เงินบาท แข็งค่าขึ้นนั้น บีโอไอมองว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการในการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต หรือเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในอนาคต นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าจากต้นทุนที่ต่ำลงเพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ มาตรการเพื่อการประหยัดพลังงาน มาตรการเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการเพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม มาตรการเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยผู้ยื่นขอจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่ใช้ในการปรับปรุง และหากเป็นผู้ประกอบการ SMEs ได้กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท จากปกติที่กำหนด 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)
ตัวอย่างการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น การติดตั้งระบบขนย้ายสินค้าอัตโนมัติภายในคลังสินค้า การติดตั้งหุ่นยนต์ทำความสะอาดเตาเผา การติดตั้งชุดป้อนวัตถุดิบอัตโนมัติ การติดตั้งเครื่องเอ็กซ์เรย์ที่สายการผลิต การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในสถานประกอบการ เป็นต้น
ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่บีโอไอกำหนด คือต้องมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิหรือขนาดลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ต้องมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน โดยผู้สนใจสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้จนถึงเดือนธันวาคม 2563