The Water Horse: Legend of the Deep. “อภินิหารตำนานเจ้าสมุทร”

ข่าวบันเทิง Friday January 18, 2008 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--วอลท์ ดิสนีย์
ผลงานจากความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ระหว่าง โซนี่ พิคเจอร์ส , เรฟโวลูชั่น สตูดิโอ, ผู้กำกับเจ้าของรางวัลอเคเดมี่ อวอดส์ (ออสการ์) และทีมผู้สร้างสเปเชี่ยล เอ๊ฟเฟ็คผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่อลังการของมหากาพยน์ภาพยนตร์ The Lord of the Rings และ The Chronicles of Narnia สู่การสร้างมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นอีกครั้งในภาพยนตร์ผจญภัย แฟนตาซี สุดตระการตาใน The Water Horse: Legend of the Deep. “อภินิหารตำนานเจ้าสมุทร”
การผจญภัยเหนือจินตนาการเริ่มต้นขึ้นเมื่อ แอนกัส เด็กน้อยชาวสก๊อตแลนด์ ค้นพบ “ไข่” พิศวง เขาตัดสินใจนำมันกลับบ้าน โดยไม่รู้ว่าเขากำลังเผชิญหน้ากับ “วอเตอร์ฮอสส์” สัตว์ลี้ลับในตำนานทะเลสาบสก๊อตแลนด์ การตัดสินใจครั้งนั้นนำพาเขาไปสู่เส้นทางการค้นพบสุดอัศจรรย์ และการผจญภัยที่เต็มไปด้วยอันตรายรออยู่เบื้องหน้า เด็กน้อยต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาความลี้ลับใต้ท้องทะเลสาบนี้ก่อนที่ “วอเตอร์ฮอส” จะกลายเป็นแค่ตำนานไปจริงๆ
ชื่อเรื่อง : The Water Horse: Legend of the Deep.
ประเภท : ผจญภัย-แฟนตาซี
กำกับโดย: เจย์ รัสเซลล์
บทภาพยนตร์โดย : โรเบิรต์ เนลสัน จาคอบส์
จากหนังสือ : The Water Horse โดย ดิค คิง-สมิธ
อำนวยการสร้างโดย: โรเบิร์ต เบินร์สไตน์
ดักกลาส เรย์
แบร์รี่ เอ็ม.ออสบอร์น , ชาร์ลี ลียงส์
อำนวยการสร้างบริหาร : ชาร์ส เนเวิร์ธ
นักแสดง: เอมิลี่ วัตสัน
อเล็กซ์ อีเท็ล
เบน แชปพลิน
เดวิด มอร์ริซซี่
ไบรอัน ค๊อกส์
กำหนดฉาย 27 มีนาคม 2551
ในโรงภาพยนตร์
ข้อมูลงานสร้าง
ผู้อำนวยการสร้างเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและทีมงานสเปเชียล เอฟเฟ็กต์เบื้องหลัง “The Lord of the Rings” ร่วมกับเรฟโวลูชัน สตูดิโอส์, วอลเดน มีเดีย (“The Chronicles of Narnia”) และบีคอน พิคเจอร์ส ในการเนรมิตภาพยนตร์มหัศจรรย์เรื่องนี้สู่จอเงิน
“The Water Horse: Legend of the Deep” เป็นเรื่องเล่าของเด็กชายชาวสก็อตผู้โดดเดี่ยวคนหนึ่งชื่อแองกัส แม็คมอร์โรว์ ผู้ปรารถนาให้พ่อของเขากลับจากสงคราม เรื่องราวมหัศจรรย์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อแองกัสนำวัตถุลึกลับแปลกประหลาดที่เขาพบที่ชายหาดกลับมาบ้าน ไม่ช้าเขาก็ได้รู้ว่า วัตถุลึกลับนั้นแท้จริงแล้วคือไข่วิเศษ และเขาก็พบว่าตัวเองได้เลี้ยงดูสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ “ม้าทะเลสาบ” ตามตำนานสก็อต ระหว่างที่เขาพยายามซ่อนตัวเพื่อนของเขา ที่เขาตั้งชื่อว่าครูโซ สานสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ แองกัสก็ได้เริ่มค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ ด้วยการปกป้องความลับที่ก่อเกิดเป็นตำนานยิ่งใหญ่
สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ของเรื่อง สร้างสรรค์ขึ้นโดยเวตา ดิจิตอลและเวตา เวิร์คช็อป ผู้ที่เคยสร้างสเปเชียล เอฟเฟ็กต์และวิชวล เอฟเฟ็กต์ให้กับ “Lord of the Rings” และ “King Kong” มาแล้ว ก่อนหน้านี้ วอลเดน มีเดียเคยร่วมงานกับเวตา เวิร์คช็อปมาแล้วในการสร้างสิ่งมีชีวิตในเทพนิยายใน “The Chronicles of Narnia”
เรฟโวลูชัน สตูดิโอส์, วอลเดน มีเดียและบีคอน พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอภาพยนตร์จากอีคอส ฟิล์มส์ โดยเจย์ รัสเซล THE WATER HORSE: LEGEND OF THE DEEP นำแสดงโดยเอมิลี วัตสัน, อเล็กซ์ เอเทล, เบน แชปลิน, เดวิด มอร์ริสซีย์และ ไบรอัน ค็อกซ์ กำกับโดยเจย์ รัสเซล อำนวยการสร้างโดยโรเบิร์ต เบิร์นสไตน์, ดักกลาส เร, แบร์รีย์ เอ็ม. ออสบอร์นและชาร์ลีย์ ลีออนส์ บทภาพยนตร์โดยโรเบิร์ต เนลสัน จาค็อบส์ จากหนังสือเรื่อง The Water Horse โดยดิค คิง-สมิธ ผู้อำนวยการสร้างบริหารคือชาร์ลส์ นิวเวิร์ธ ผู้กำกับภาพคือโอลิเวอร์ สเตเปิลตัน, บีเอสซี ผู้ออกแบบงานสร้างคือโทนี เบอร์โรห์ ลำดับภาพโดยมาร์ค วอร์เนอร์ ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยจอห์น บลูมฟิลด์ ดนตรีโดยนิวตัน โฮเวิร์ด จัดจำหน่ายโดยโซนี พิคเจอร์ส รีลีสซิง
เกี่ยวกับภาพยนตร์
“เราอยากจะเชื่ออย่างเหลือเกินว่ายังมีเวทมนตร์ในโลกใบนี้ ซึ่งมันเป็นสาเหตุที่ทำให้ตำนานล็อคเนสกระตุ้นจินตนาการของเรามารุ่นแล้วรุ่นเล่าครับ” เจย์ รัสเซล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “The Water Horse: Legend of the Deep” กล่าว “ผมมองหาเรื่องราวที่จะถ่ายทอดเกี่ยวกับจิตวิญญาณมนุษย์ ผมทึ่งกับที่ทางของเราบนโลกใบนี้และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ร่วมโลกกับเรา ว่าพวกเราส่งผลกระทบต่อชีวิตของอีกฝ่ายอย่างไรบ้าง ด้วยความที่ว่าเรื่องเล่านี้มีธีมสากลของเวทมนตร์และมิตรภาพ มันก็เลยเหมาะกับคนทุกวัย มันเป็นหนังสำหรับทุกคนจริงๆ ในระดับหนึ่ง มันเป็นหนังสำหรับเด็กๆ เป็นหนังสำหรับพ่อแม่ในระดับหนึ่ง และเป็นหนังสำหรับคุณปู่คุณย่าในอีกระดับหนึ่งด้วย”
“ผมตื่นเต้นจริงๆ ที่มีโอกาสได้แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพของแองกัสกับครูโซครับ” อเล็กซ์ เอเทลกล่าว นักแสดงตัวน้อยที่ก่อนหน้านี้โด่งดังจากบทนำใน “Millions” รับบทเด็กชายชาวสก็อตที่พบครูโซและเลี้ยงสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ตัวนี้ขึ้นมาจนเติบใหญ่ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ “แองกัสเป็นเด็กที่แปลกแยกจากคนอื่นหน่อยๆ ครับ เขาเก็บเนื้อเก็บตัว พอเขาได้พบครูโซ เขาก็ดีใจที่ได้มีเพื่อนใหม่ แต่เขาก็ตื่นเต้นที่ได้มีความลับ มันเป็นมิตรภาพที่สำคัญที่สุดในชีวิตเขาครับ”
สำหรับรัสเซล มิตรภาพนั้นดำเนินขนานไปกับแง่มุมสำคัญในชีวิตของแองกัส “ความสัมพันธ์ระหว่างแองกัสกับม้าทะเลสาบสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะยิ่งมันเติบโตขึ้นเท่าไหร่ มันก็กลายเป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์อันงดงามที่ครั้งหนึ่งแองกัสเคยมีกับพ่อของเขามากขึ้นเท่านั้น” ผู้กำกับตั้งข้อสังเกต “ครูโซช่วยให้เขาก้าวพ้นวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ นั่นเป็นความเรียบง่ายของเรื่องราวนี้ครับ มันเป็นวิธีวิเศษสุดในการบอกเล่าเรื่องราวการที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นและยอมรับความจริงของชีวิต”
ดิค คิง-สมิธ ผู้เขียนหนังสือ The Water Horse ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าวว่าเขายินดีเป็นพิเศษที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายตัวน้อยกับโลกรอบตัวเขา “ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนสนใจเรื่องราวนี้คือความลึกลับครับ” เขากล่าว “ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าม้าทะเลสาบมีอยู่จริงรึเปล่า ไม่มีใครรู้ว่าหน้าตามันเป็นยังไง คุณสามารถปล่อยจินตนาการตัวเองให้โลดแล่นได้ ผมคิดว่านั่นคือความสนุกของมันครับ ผมคิดว่าเสน่ห์ของเรื่องราวนี้คือความเรียบง่าย มันเป็นเรื่องราวตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดตัวหนึ่ง และผลกระทบที่มันมีต่อครอบครัวนั้นน่ะครับ”
คิง-สมิธกล่าวอีกว่า มันมีอีกแง่มุมหนึ่งที่อยู่ในใจเขา “ผมคิดว่ามันมีธีมเดียวกันอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ทุกเรื่องของผม นั่นคือความกล้าหาญครับ” นักเขียน เจ้าของผลงานเรื่อง Babe: The Gallant Pig กล่าว “มันอาจเป็นความกล้าหาญทางร่างกายหรือจิตใจก็ได้ แต่ในเรื่องราวของผม สัตว์ตัวนั้นๆ จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความยากลำบากบางประการ แต่มันก็ฝ่าฟันมาได้ด้วยแรงใจล้วนๆ นั่นเป็นธีมที่ทำให้ผมสนใจครับ”
ในการเนรมิตชีวิตให้กับสิ่งมีชีวิตพิเศษนี้ ทีมผู้สร้างได้เรียกใช้งานทีมงานสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ที่เวตา เวิร์คช็อปและเวตา ดิจิตอล ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสร้างเอฟเฟ็กต์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Lord of the Rings,” “The Chronicles of Narnia” และ “King Kong” มาแล้ว “นี่เป็นหนังแบบที่เราชอบทำครับ” ริชาร์ด เทย์เลอร์ ผู้ดูแลเวิร์คช็อปแห่งเวตา เวิร์คช็อปกล่าว “เราได้สร้างสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่งดงามแบบนี้ แต่การที่มันเปลี่ยนแปลงไประหว่างการดำเนินเรื่องและเติบโตจนกลายเป็นม้าทะเลสาบวัยโตเต็มวัยเปิดโอกาสทองในการออกแบบให้กับเราครับ เราสามารถพูดคุยปรึกษากับเจย์ รัสเซลและทีมงานของเราในการสร้างบางสิ่งที่พิเศษสุดจริงๆ ให้กับหนังที่น่ารักมากๆ เรื่องนี้ มันไม่บ่อยนักหรอกครับที่คุณจะเจอหนังแบบนี้”
ผู้อำนวยการสร้างแบร์รีย์ เอ็ม. ออสบอร์น ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับเวตามาแล้วในฐานะผู้อำนวยการสร้างไตรภาค “Lord of the Rings” ได้กลับสู่นิวซีแลนด์เพื่อรับหน้าที่เดียวกันนี้ในภาพยนตร์เรื่อง “The Water Horse” ออสบอร์นเห็นพ้องด้วยว่า รัสเซล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยกำกับภาพยนตร์สำหรับครอบครัวที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงเรื่อง “My Dog Skip” และ “Tuck Everlasting” เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการเนรมิตชีวิตให้กับม้าทะเลสาบ ออสบอร์นกล่าวว่า เช่นเดียวกับในภาพยนตร์เหล่านั้น แกนกลางของ “The Water Horse” คือเรื่องราวอ่อนโยนเกี่ยวกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ “หนังเรื่องนี้บันทึกการเติบโตของหนุ่มน้อยคนนี้ครับ” เขาอธิบาย “เขาทำใจได้กับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ และด้วยเพื่อนของเขา ด้วยสิ่งมีชีวิตตัวนี้ เขาได้ค้นพบความหวัง ความงามและชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่งครับ”
“เจย์ฉลาดมากๆ” ออสบอร์นกล่าวต่อ “เขาทุ่มให้กับหนังเรื่องนี้อย่างหมดตัว เขารักสิ่งที่เขาทำมากๆ ผมยินดีมากที่ได้ร่วมงานกับเขา”
“ผมชื่นชอบจินตนาการและสเกลของเรื่องครับ มันน่าตื่นเต้นสุดๆ แต่สำหรับผมแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของหัวใจครับ” ผู้อำนวยการสร้างชาร์ลี ลีออนส์กล่าว “มันซาบซึ้งใจและเป็นสิ่งเตือนให้คุณรำลึกว่า เมื่อคุณสูญเสียวัยเด็กของคุณไป คุณต้องสู้เพื่อรักษาจินตนาการของตัวเองเอาไว้ ถ้ามีเด็กบอกคุณว่า เขาซ่อนสัตว์ประหลาดไว้ในห้อง คุณควรจะฟังเขา ‘The Water Horse’ เป็นสิ่งที่เตือนให้เรานึกถึงว่า ยังมีความงดงามอยู่ในโลกใบนี้และชีวิตเป็นสมบัติล้ำค่าครับ”
การคัดเลือกนักแสดง
ศูนย์กลางของ “The water Horse” คือแองกัส เด็กชายตัวน้อยชาวสก็อตติช ผู้ผูกมิตรกับสิ่งมีชีวิตตามชื่อเรื่อง ผู้กำกับเจย์ รัสเซลเคยเห็นอเล็กซ์ เอเทลรับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง “Millions” ของแดนนี บอยล์มาก่อน และติดต่อขอพบเขาในอังกฤษ “พอผมจับกล้องไปที่เขา เขาก็ทำให้หน้าจอสว่างไสวขึ้นมา ผมรู้ทันทีเลยว่าเขาเป็นคนที่เราต้องการ” รัสเซลเล่า “มันไม่ได้เป็นแค่การค้นหานักแสดงที่มีประสบการณ์เท่านั้น ในการทำงานกับนักแสดงเด็ก ไม่มีใครมีประสบการณ์เยอะแยะหรอกครับ คุณต้องมองหาอย่างอื่น ความหนักแน่น ความน่าเชื่อภายใต้การแสดงนั้นน่ะครับ อเล็กซ์มีสิ่งนั้น และผมก็รู้ว่า เขาเพอร์เฟ็กต์สำหรับบทนี้”
เอเทลพูดถึงตัวละครของเขาว่าเป็นเด็กชายโดดเดี่ยว ผู้รู้สึกอ้างว้างยิ่งกว่าเดิมเมื่อพ่อของเขาไปรบในสงคราม “พ่อของเขาเป็นเพื่อนคนเดียวของเขา เป็นคนเดียวที่ใกล้ชิดกับเขา จริงๆ นะครับ” เอเทลกล่าว “ครูโซกลายเป็นเหมือนตัวแทนของพ่อเขา สิ่งที่พวกเขาทำด้วยกันเป็นสิ่งที่พ่อกับลูกจะทำด้วยกัน ตอนที่เขาเรียนรู้ที่จะปล่อยวางจากครูโซ เขาก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ชีวิตของเขาก่อนที่พ่อจะไปสงครามจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว”
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แองกัสมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับครูโซ สิ่งมีชีวิตในตำนานที่มีอยู่จริง “แองกัสต้องการครูโซมากพอๆ กับที่ครูโซต้องการเขาครับ” เอเทลกล่าวต่อ “นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายที่เติบโตขึ้น และครูโซก็ช่วยให้เขาเติบโตขึ้นได้ในเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด”
เอเทลกล่าวว่า หนึ่งในสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการทำงานใน “The Water horse” คือความคิดที่ได้แสดงภาพยนตร์ที่ครอบครัวของเขาจะสนุกไปกับมัน “ผมชอบเรื่องราวของแองกัสและครูโซครับ และผมคิดว่าพ่อแม่ผมก็คงจะชอบเหมือนกัน” เขากล่าว “คุณมักจะได้ยินคำพูดที่ว่าหนังเรื่องนี้ ‘ดูสนุกได้ทั้งครอบครัว’ แต่หนังเรื่องนี้เข้าถึงเด็กๆ ในระดับเรา แต่ก็ยังมีอะไรมากพอสำหรับพ่อแม่ด้วยครับ”
เบน แชปลิน นักแสดงผู้ได้เข้าฉากสำคัญๆ กับอเล็กซ์ กล่าวชมเชยนักแสดงเด็กผู้นี้ว่า “ไม่มีเด็กอายุ 11 ปีคนไหนที่ผมจะอยู่ด้วยอย่างสนุกสนานและรู้สึกสบายใจเท่าเขาอีกแล้วครับ” แชปลินกล่าว “เขาฉลาด กระตือรือร้น คล่องแคล่วและหัวไว เราผูกพันกันมากกว่าตัวละครของเรา หรืออย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นความผูกพันที่เปิดเผยและแสดงออกมากกว่าน่ะครับ ผมหวังว่ามันจะปรากฏให้เห็นเพราะเขาเป็นนักแสดงชั้นเยี่ยมจริงๆ ครับ”
ผู้รับบทแอนน์ แม่ของแองกัส คือเอมิลี วัตสัน นักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด “ผมมีนักแสดงเพียงคนเดียวในใจสำหรับบทนี้ และเธอคนนั้นก็คือเอมิลี วัตสันครับ” เจย์ รัสเซล กล่าว “เอมิลีคือคนคนนั้น ถ้าเธอปฏิเสธ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมจะทำยังไงดี เธอมักจะใส่เอาความซับซ้อนแบบที่ไม่ใช่การแสดงหรือคำพูดที่โอเวอร์เข้าไปในบทบาทของเธอครับ”
“ฉันคิดว่า ‘The Water Horse’ ดำเนินไปตามขนบของนิทานสำหรับเด็ก แต่ก็มีแบ็คกราวด์ที่สมจริงค่ะ” วัตสันกล่าว “ฉันคิดว่าเด็กๆ เข้าใจดีว่ามันเสี่ยงแค่ไหน สำหรับแอนน์ ตัวละครของฉัน การปล่อยให้แองกัสใช้ชีวิตในโลกแฟนตาซีง่ายกว่าการให้เขาเผชิญกับความเจ็บปวดในชีวิตค่ะ”
ทีมผู้สร้างได้เลือกเบน แชปลินมารับบทลูอิส มอว์เบรย์ หนึ่งในตัวละครที่ลึกลับและเป็นปริศนามากที่สุดในเรื่อง “อดีตของลูอิสเต็มไปด้วยความลับมืดดำครับ” รัสเซลกล่าว “เขาผ่านเรื่องราวชีวิตและความตายมามากกว่าตัวละครตัวอื่นๆ ในเรื่อง แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อเขามากจนเขาต้องฝังมันไว้ใต้การกระทำของเขา”
“ตอนเริ่มต้น เขาลึกลับหน่อยๆ” แชปลินกล่าว “เขาอยู่ในวัยที่สู้รบได้ แต่ก็ไม่ได้เข้ารับใช้กองทัพ ตอนที่เขาปรากฏตัวขึ้นอย่างไม่รู้หัวนอนปลายเท้า สองวันให้หลังเขาก็รับหน้าที่เป็นคนงานของแม่แองกัสแล้ว เราไม่รู้ที่มาที่ไปของเขาจริงๆ ครับ”
“เบน แชปลินเป็นนักแสดงที่มีความสามารถมากๆ ผมเป็นแฟนหนังเขามาหลายปีแล้วครับ” รัสเซลกล่าว “เขารับบทเป็นตัวละครหลากหลายประเภทมากจนผมรู้ว่า เขาสามารถรับบทนี้ได้ ตอนที่เราได้พบกัน มันมีความผูกพันกันบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างเราในแง่ของตัวละคร การสวมบทและการแสดงโดยทั่วๆ ไป เขารู้ตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่เขาจะต้องผูกมิตรกับอเล็กซ์เพราะพวกเขาจะได้เข้าฉากด้วยกันหลายครั้งครับ”
เดวิด มอร์ริสซีย์ นักแสดงผู้คร่ำหวอดในวงการ รับบทร้อยเอกแฮมิลตัน “ผมคิดว่าเดวิดต้องรับบทเป็นตัวละครที่ยากที่สุดเพราะร้อยเอกแฮมิลตันเป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง” รัสเซลกล่าว “เดวิดได้ประวัติของร้อยเอกแฮมิลตันช่วยในการรับบทนี้ ไม่มีอะไรปรากฏในหนังเรื่องนี้หรอกครับ แต่เดวิดรู้ดีว่าแฮมิลตันสมัยเด็กเรียนที่โรงเรียนไหน เขาทำอะไรในช่วงวันหยุด และที่สำคัญที่สุด เขารู้ว่าเขาเป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ แม้ว่าจะมีความคาดหวังต่อแฮมิลตันมากแค่ไหน เขาไม่เคยมีการเตรียมตัวที่เหมาะสมในการรับผิดชอบการนำกองทัพเลย เขาเป็นคนที่ต้องเสแสร้งว่าสามารถควบคุมคนและเป็นผู้นำได้ แต่ลึกลงไปแล้ว เขารู้ดีว่า เขาไม่พร้อมสำหรับหน้าที่นั้น ว่าเขาได้ตำแหน่งนั้นมาเพราะเส้นสาย เดวิดพบประเด็นนี้ในตัวละครของเขาครับ”
“เขาเป็นผู้ชายบ้าอำนาจครับ” มอร์ริสซีย์พูดถึงตัวละครของเขา “เขาเป็นคนอารมณ์อ่อนไหว แต่เขามีหน้าที่ต้องทำและเขาก็ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกนั้นมาขัดขวางการทำงานของเขาครับ”
สำหรับรัสเซล การตามหานักแสดงที่เหมาะสมมารับบทผู้บรรยายเรื่องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด “ผมรู้สึกว่าไม่เพียงแต่เราจะต้องหานักแสดงที่ดีมารับบทนี้แต่ต้องเป็นนักแสดงที่เยี่ยม” รัสเซลกล่าว “เพราะเขามีเวลาอยู่ในหน้าจอน้อยมาก ผมก็อยากให้เรารู้สึกผูกพันกับเขาในทันที และติดใจกับเรื่องราวที่เขาจะบอกเล่า คุณจะได้แบบนั้นก็ต่อเมื่อเขาเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยมอย่างไบรอัน ค็อกซ์ครับ”
เช่นเดียวกับตอนที่เขาค้นหาเด็กชายที่จะรับบทแองกัส รัสเซลยังต้องการหญิงสาวที่มีความลึกซึ้งมารับบท เคิร์สตี พี่สาวของเขา “การหานักแสดงมารับบทเคิร์สตียากมากพอๆ กับการหานักแสดงมารับบทแองกัส ผมรู้ว่าบทนี้น่าจะเป็นของนักแสดงอายุน้อยที่ไม่มีประสบการณ์” รัสเซลกล่าว “สำหรับผม มันเป็นเรื่องสำคัญที่ครอบครัวในหนังจะต้องดูเหมือนว่าพวกเขาเป็นครอบครัวเดียวกัน และมีสายเลือดเดียวกัน พรียันกา ซี มีประกายดวงตาและจิตวิญญาณแบบเดียวกับเอมิลีและมีลักษณะคล้ายคลึงเธอด้วย ผมถอนหายใจโล่งอกเลยล่ะตอนที่ผมพบว่าเธอเป็นนักแสดงที่เก่ง”
การเนรมิตชีวิตให้ครูโซ
แน่นอน มีตัวละครอีกตัวหนึ่งที่จะปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือ ครูโซ ตัวละครตามชื่อเรื่อง หน้าที่สำคัญในการเนรมิตชีวิตให้ครูโซตกเป็นของเวตา ดิจิตอลและเวตา เวิร์คช็อป ผู้รับผิดชอบเอฟเฟ็กต์ในไตรภาค “Lord of the Ring,” “King Kong” และ “The Chronicles of Narnia”
“ด้วยความที่ว่ามันเป็นตัวละครที่สำคัญต่อหนังมาก สิ่งหลักๆ ที่เราต้องทำคือการกำหนดลักษณะนิสัยของมันครับ” โจ เล็ทเทอรี ซีเนียร์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ เจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ดแห่งเวตา ดิจิตอล กล่าว “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราอยากให้มันเป็นสัตว์จริงๆ มันจะต้องมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัว แต่เราไม่อยากทำให้มันเหมือนมนุษย์ สิ่งที่สำคัญมากๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราอยากสื่อสารความคิดที่ว่า ครูโซเป็นสิ่งมีชีวิตที่แองกัสสามารถมองเห็นตัวเองในนั้นได้ครับ
“หนังเรื่องนี้ทำให้เราต้องทำในสิ่งที่คนไม่เคยเห็นมาก่อนครับ” เล็ทเทอรีกล่าวเสริม “แผนกสเปเชียล เอฟเฟ็กต์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งระหว่างการถ่ายทำเพราะครูโซจะต้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ หลายอย่าง ทุกอย่างที่พวกเขาทำกับแสง ปฏิสัมพันธ์กับน้ำ การขยับเขยื้อนสิ่งต่างๆ ในกองถ่าย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นช่วยทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า ครูโซอยู่หน้ากล้องจริงๆ ตอนที่ถ่ายทำซีนนั้นครับ”
ขั้นตอนแรกในกระบวนการนั้นคือการออกแบบสิ่งมีชีวิตในตำนานนี้ ด้วยความที่ไม่เคยมีใครเห็นม้าทะเลสาบมาก่อน ทางเลือกจึงเปิดกว้าง รัสเซลกล่าวว่า “ตอนที่ผมนั่งออกแบบมันกับแมท ค็อดด์ ดีไซเนอร์คอนเซ็ปต์ของครูโซ เรามองดูสัตว์และสิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภท เรารู้สึกว่า ด้วยความที่ว่าเรากำลังสร้างตำนานนี้ในแบบของเราเอง เราก็เลยอยากได้สิ่งที่มีเอกลักษณ์ ในภาพวาดคอนเซ็ปต์เริ่มแรกของตัวละครตัวนี้ เราใช้สัตว์ประมาณหกชนิดมาเป็นแบบในการวาดหน้าและตัวของครูโซ ถ้าคุณมองภาพวาดคอนเซ็ปต์เริ่มแรกดีๆ คุณจะเห็นว่ามันมีดวงตาเหยี่ยวและจมูกเหมือนม้า มันมีความเป็นสุนัขในนั้น มีไดโนเสาร์ มียีราฟนิดๆ ด้วยซ้ำไป เพราะเราอยากให้ผู้ชมมีความรู้สึกแปลกๆ ที่ทำให้พวกเขาคิดว่า ‘ฉันเคยเห็นสิ่งมีชีวิตแบบนี้มาก่อนนะ แต่ฉันไม่แน่ใจว่ามันคือตัวอะไร’ น่ะครับ”
นอกเหนือจากนั้น ด้วยความที่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตามครูโซขณะที่มันเติบโตขึ้น ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ จากวัยทารกสู่วัยผู้ใหญ่ ทีมงานก็เลยต้องออกแบบขั้นตอนการเติบโตหลายขั้นตอนให้กับมัน จิโน อาเซเวโด ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายสิ่งมีชีวิต ผู้รับหน้าที่ซูเปอร์ไวเซอร์อาวุโสฝ่ายอวัยวะเทียม กล่าวว่าแบบดีไซน์เหล่านี้มีองค์ประกอบที่โดดเด่นหลายอย่างเพื่อที่ว่าผู้ชมจะได้รู้ว่า พวกเขากำลังดูสิ่งมีชีวิตตัวเดียวกันในแต่ละซีน “เรากำหนดสีสันและลักษณะเด่นให้กับมัน เพื่อที่ว่ามันจะได้มีลักษณะบางอย่างติดตัวขณะที่เติบโตขึ้น ไปจนถึงตอนจบของเรื่องครับ”
อย่างไรก็ดี ครูโซเองก็เปลี่ยนแปลงไปขณะที่มันเติบโตขึ้นเช่นกัน “เจย์อยากให้มันตอนเป็นทารกมีสีอ่อนหน่อย แล้วสีจะค่อยๆ เข้มขึ้นเมื่อมันโตขึ้นครับ” อาเวเซโดตั้งข้อสังเกต “ตอนที่มันกลายเป็นวัยรุ่น ไขมันตอนเล็กๆ จะหดหายไป และตัวมันก็เริ่มยืดขยายขึ้น มันมีกล้ามเนื้อชัดเจนมากขึ้น พอเราสร้างครูโซที่เป็นผู้ใหญ่ ผิวหนังมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างงดงาม ด้านบนจะเข้มแล้วไล่ลงมาเป็นสีอ่อนตรงสะดือครับ”
อาเซเวโดกล่าวต่อไปว่า “ตอนที่เราพยายามจะนึกว่า ครูโซน่าจะมีขนาดจริงๆ ซักเท่าไหร่ เวตา ดิจิตอลก็สร้างโมเดลแองกัส แล้ววางเขาลงบนหลังครูโซ ซึ่งเราสามารถปรับขนาดครูโซได้จนกระทั่งเราพบขนาดที่เหมาะสมกับทั้งคู่ครับ”
อาเซเวโดและทีมงานที่เวตาได้เริ่มงานจากตรงนั้น ด้วยการปรับแต่ง ขัดเกลาแบบดีไซน์ตามคำสั่งของรัสเซล ในการแต่งเติมลักษณะของแมวน้ำและเพลซิโอซอร์ รวมทั้งรอยย่นและรายละเอียดต่างๆ เข้าไป เวตาได้สร้างรูปปั้นดินเหนียวของครูโซขั้นตอนสุดท้ายขึ้นมา เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัสเซล เวตาก็สร้างแบบครูโซจากยูรีเธน ซึ่งจะถูกใช้ในการกำหนดแบบลงสีสำหรับครูโซ ขึ้นมา
ในการนี้ อาเซเวโดได้กลับไปหาแรงบันดาลใจจากโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับรังสรรค์สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ตัวนี้ “เราได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ครูโซใช้ชีวิตอยู่ตอนที่เราออกแบบสีสันให้กับมันครับ” อาเซเวโดกล่าว “น้ำในสก็อตแลนด์ค่อนข้างจะขุ่นมัว และมันก็มีสาหร่ายลอยล่องเต็มไปหมด ครูโซเป็นสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่อาศัยอยู่ที่นั่นมาหลายร้อยหลายพันปีแล้ว มันจะต้องพรางตัวเองได้ค่อนข้างดี ไม่อย่างนั้น มันคงจะถูกจับไปอยู่ซีเวิลด์แล้วล่ะครับ!”
ด้วยจุดเริ่มต้นนั้น อาเซเวโดเริ่มออกแบบแผนภูมิสีด้วยลวดลายหลากหลาย “ด้วยความที่ครูโซไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่จริง เราก็เลยผลักดันสิ่งต่างๆ ไปหน่อยเพื่อคิดหาสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นนิดๆ ครับ” อาเซเวโดตั้งข้อสังเกต
เมื่ออาเซเวโดมีแบบดีไซน์แล้ว งานต่างๆ ก็ถูกส่งต่อไปให้กับเวตา ดิจิตอล ผู้สแกนภาพสิ่งมีชีวิตนี้ลงในคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างโมเดลคอมพิวเตอร์สองมิติ และจากตรงนั้น พวกเขาก็สร้างโครงร่าง โครงกล้ามเนื้อและผิวหนังของครูโซขึ้นมา ผิวหนังของมันแสดงให้เห็นถึงความล้ำหน้าด้านเทคนิคของเวตา ดิจิตอล “เรามีเทคโนโลยีผิวแบบใหม่ที่เราคิดขึ้นสำหรับครูโซครับ” เล็ทเทอรีกล่าว “เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นกับผิวของมันตอนที่มันผลุบๆ โผล่ๆ ขึ้นจากน้ำครับ”
เมื่อแบบดีไซน์ลงตัวแล้ว ความท้าทายต่อไปตกเป็นของอนิเมเตอร์ในการเนรมิตชีวิตให้กับสิ่งมีชีวิตตัวนี้ “สิ่งที่เราได้พูดคุยในตอนเริ่มแรกกับเจย์ ในแง่ของการกำหนดลักษณะนิสัยแบบสัตว์ให้กับครูโซ ก็คือเราจะดูตัวอย่างจากสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกสุนัข เพราะนั่นเป็นตอนที่ผู้ชมจะได้ทำความรู้จักกับครูโซจริงๆ” เล็ทเทอรีกล่าวอธิบาย “สุนัขเป็นสัตว์ที่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างมาก แม้ว่าพวกมันจะไม่ใช่มนุษย์ คุณก็สามารถอ่านอารมณ์มันได้ครับ”
นอกเหนือจากนั้น ครูโซก็จะแสดงอารมณ์ออกมาในลักษณะคล้ายๆ กัน “ด้วยความที่ครูโซพูดไม่ได้ ความรู้สึกของมันจะแสดงออกทางแววตาครับ” อาเซเวโดกล่าว
อนิเมเตอร์เริ่มต้นงานของพวกเขาก่อนหน้าที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น ในการทดสอบว่าครูโซจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร พวกเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักแสดง ผู้ซึ่งระหว่างการถ่ายทำจะต้องโต้ตอบกับหุ่น (ซึ่งภายหลังจะถูกแทนที่ด้วยวิธีการทางดิจิตอล) หรือความว่างเปล่า “เราทำการทดสอบนิดๆ หน่อยๆ ในทันที เพื่อให้ได้ความรู้สึกว่ามันขี้เล่นขนาดไหน มันจะรู้สึกโดดเดี่ยวแค่ไหน มันจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรกับแองกัส และผู้คนที่อยู่รอบตัวมัน เราใช้ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นครับ”
ริชาร์ด เทย์เลอร์ ซูเปอร์ไวเซอร์เวิร์คช็อปแห่งเวตา เวิร์คช็อป กล่าวว่า การให้หุ่นมีปฏิกิริยาตอบโต้นักแสดงและสิ่งแวดล้อมจริงๆ ระหว่างการถ่ายทำเป็นเทคนิคที่ได้ผลดี และเป็นสูตรนำไปสู่ออสการ์ สำหรับเวตา “ในหนังที่เราเคยสร้างมา เราพบว่ายิ่งมีการสร้างตัวตนจริงๆ ขึ้นมาในกองถ่ายมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น มันใช้ได้ดีอย่างยิ่งกับการที่แอนดี เซอร์กิสรับบทเป็นกอลลัมและคอง สิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มเติมเข้าไปในการแสดงได้มากจริงๆ ไม่ใช่สำหรับสิ่งมีชีวิตนั้นๆ แต่สำหรับนักแสดงที่แสดงประกบสิ่งมีชีวิตนั้นต่างหากล่ะครับ แผนกดิจิตอล เอฟเฟ็กต์จะสามารถทำงานได้ยอดเยี่ยมที่สุดก็จริง แต่ถ้านักแสดงไม่ได้สะท้อนถึงอารมณ์ที่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตตัวนั้น คุณก็จะไม่มีอะไรเลยครับ วิธีนี้เป็นวิธีที่น่ารักที่จะให้นักแสดงได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่พิเศษสุดและเป็นโอกาสให้เราได้เล่นในอ่างอาบน้ำกับของเล่นยางครับ”
“หุ่นพวกนี้ทำจากซิลิโคน มันก็เลยค่อนข้างจะยืดหยุ่นครับ” อาเซเวโดกล่าวอธิบาย “เราใช้ไม้ควบคุมหุ่น ซึ่งการที่พวกมันสามารถเคลื่อนไหวและว่ายน้ำได้น่ะน่าทึ่งทีเดียวครับ เรายังมีม้าทะเลสาบน้อยๆ เวอร์ชันสีฟ้า ซึ่งช่วยให้เวตา ดิจิตอลลบมันออกจากฉากได้ง่ายดายด้วย”
“มันมีเรื่องหนึ่งที่ตลกเกิดขึ้นกับการใช้หุ่นครับ” อาเซเวโดเล่า “ในซีนหนึ่ง ครูโซกำลังดึงทึ้งรองเท้าบู๊ทข้างหนึ่งของพ่อแองกัส หุ่นถูกเส้นลวดผูกติดกับรองเท้าบู๊ท แล้วอเล็กซ์ก็ออกแรงดึงจริงๆ เจย์พร่ำบอกเขาว่า ‘ดึงแรงขึ้นอีก ดึงแรงขึ้นอีก!’ อเล็กซ์ดึงแรงมากจนหัวหุ่นหลุดออกมา เราต้องทำหุ่นขึ้นมาใหม่อีกตัว แต่ครั้งนี้เราใส่เส้นลวดเข้าไปในปากเพื่อที่เขาจะได้ดึงแรงเท่าที่ต้องการได้โดยไม่ต้องห่วงว่าหัวจะหลุดออกมาอีกน่ะครับ”
ในตอนที่เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น ครูโซยังไม่ได้เกิดออกมาจากไข่ ไข่ ซึ่งพิเศษและโดดเด่นมากพอที่แองกัสจะมองเห็นมันและนำมันกลับบ้าน ก็ได้รับการออกแบบโดยเวตาเช่นกัน “ผมเล่นกับดีไซน์และรูปทรงหลายอย่างครับ” อาเซเวโดกล่าว “และอยู่มาคืนหนึ่ง ผมก็เกิดความคิดว่า ด้วยความที่เราอยู่ในนิวซีแลนด์ มันคงจะเจ๋งดีถ้าเราจะใช้เปลือกหอยเป๋าฮื้อ มันเป็นเปลือกหอยที่สวยมากๆ และให้ความรู้สึกเหมือนมีเวทมนตร์ จอห์น ฮาร์วีย์ หนึ่งในช่างเทคนิคของเรา ต้องดำน้ำบ่อยๆ และเขาก็พบชิ้นส่วนเปลือกหอยขนาดใหญ่ ซึ่งเจย์ก็เห็นด้วยว่าเพอร์เฟ็กต์
“ในการสร้างไข่ใบนี้ เราเริ่มต้นจากดินน้ำมัน แล้วเราก็ไปอยู่ที่ชายหาดเพื่อเก็บรวบรวมเศษเปลือกหอยและปะการัง เพื่อเอามาโปะบนมัน พอแบบเสร็จแล้ว เราก็จัดการหล่อแบบปูนเอาไว้ เสร็จแล้วเราก็กะเทาะมันออกแล้วใส่เปลือกหอยเป๋าฮื้อเข้าไปด้านในครับ มันเป็นเหมือนตัวต่อจิ๊กซอว์ที่สามารถหยิบมาต่อใหม่ได้เรื่อยๆ ตามต้องการครับ”
เวตา ดิจิตอลยังมีหน้าที่ในการออกแบบและสร้างโลกใต้น้ำของครูโซด้วย เล็ทเทอรีกล่าวว่า “หลังจากวิดีโอพรีวิชวลไลเซชัน ซึ่งเราแสดงให้เจย์เห็นว่า ใต้ผิวน้ำจะมีลักษณะเป็นอย่างไร เราก็เริ่มสร้างหุบเขา พืช ปลา เรือใต้น้ำ และและสิ่งอื่นๆ ที่เราเห็นใต้นั้น สิ่งที่ท้าทายกว่าคือแสงใต้น้ำครับเพราะเจย์อยากจะถ่ายทอดคุณสมบัติมหัศจรรย์ของแสงที่ถูกหักเห ที่คุณเห็นใต้น้ำ เรายังอยากให้แองกัสดูน่าเชื่อ ว่าเขารู้สึกสบายๆ ตอนอยู่บนหลังครูโซตอนที่จำเป็น แต่ก็ต้องรู้สึกกลัวได้ตอนที่เขาจำเป็นต้องกลัวเหมือนกันครับ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ