กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้มีนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตรด้วยการขับเคลื่อนพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Intelligence Agricultural Big data) และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายเกษตร 4.0 กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Techของกระทรวงเกษตรฯ โดยมีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ Big data เพื่อร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อน Big Data ภายใต้ชื่อโครงการฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ โดย สศก. ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนฐานข้อมูลด้านการเกษตรให้เกิดเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง และกำหนดแผนการ Kick off โครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เพื่อเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ให้พี่น้องเกษตรกร ให้สามารถเข้าถึงการบริการข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรของภาครัฐ ทั้งนี้ จะมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ร่วมกันทั้ง 10 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อนำข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาตินับเป็นการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ของกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นรูปธรรม และมีการขับเคลื่อนนำไปใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน โดยจะบูรณาการฐานข้อมูลด้านการเกษตรของ สศก. ร่วมกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภายนอกรวม 10 กระทรวง ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ภาคเกษตร ทั้งด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านสินค้า และด้านทรัพยากรเกษตร ซึ่งการดำเนินการจะจัดทำชุดข้อมูล (Datasets) ที่กำหนดหน่วยงานเจ้าของข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเกษตรกรในการดำเนินการด้านการเกษตรตั้งแต่ผลิตจนถึงขายผลผลิตโดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่จะให้คำแนะนำแก้ไขปัญหา (Coaching) สำหรับข้อมูลดังกล่าวจะนำมาจัดเก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ เพื่อการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และให้บริการข้อมูล Open Data และ Open API อย่างมีรอบด้านและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ระยะแรก จะเร่งผลักดันฐานข้อมูล เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แน่นอน ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยฐานข้อมูลสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และมีแผนเปิด Open Data และ Open API ชุดข้อมูลสำคัญให้กับทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์ และเร่งสร้างเครือข่ายให้เจ้าหน้าที่และนักวิชาการด้านข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน เพื่อจัดทำข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยให้การคาดการณ์และพยากรณ์ การเตือนภัยภาคเกษตร มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นประโยชน์สำหรับการจัดทำนโยบายเกษตรในการบริหารจัดการและตัดสินใจในด้านการวางแผนการผลิตและการตลาด พร้อมทั้งบริการข้อมูลข่าวสารทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร