กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าได้มอบให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เปิดสอนสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง จำนวน 30 แห่ง ร่วมลงนามความร่วมมือกับบริษัท อาซีฟา จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายพื้นที่การฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษาอาชีวศึกษา รูปแบบทวิภาคี สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขางานติดตั้งไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และบัญชี ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกประมาณ 1 ปี ซึ่งบริษัท อาซีฟา จะช่วยพัฒนาทั้งความรู้ และทักษะอาชีพให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย รวมทั้งให้บริการติดตั้งผลิตภัณฑ์ส่งจ่ายไฟฟ้า สวิตช์บอร์ดไฟฟ้า ตู้ควบคุมสวิตช์บอร์ด รางสายไฟ โคมไฟและระบบส่องสว่างรวมไปถึงงานวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า จึงมีทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ทันสมัย สอดคล้องกับจุดเน้นการขับเคลื่อนอาชีวศึกษา เรื่องศูนย์ความเป็นเลิศทางอาชีวศึกษา ที่ต้องพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีมาตรฐานในแต่ละสาขาอาชีพ
นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า บริษัท อาซีฟา ได้ร่วมมือด้านการศึกษากับอาชีวศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ในรูปแบบโครงการพี่สอนน้อง อีกทั้งยังรับนักศึกษาอาชีวศึกษาเข้าฝึกงาน รวมไปถึงการอบรมครูสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง เพื่อให้มีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน บริษัท ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาเข้ามาฝึกประสบการณ์วิชาชีพตั้งแต่ ระดับ ปวส. จนถึงระดับปริญญาตรีสายปฏิบัติการ จำนวนรวมทั้งสิ้น 259 คน (ปวส. 225 คน และระดับปริญญาตรี 34 คน) โดยนักศึกษาทุกคนจะต้องปฏิบัติงานจริง 80 เปอร์เซนต์ และจะมีการสอนภาคทฤษฎีอีก 20 เปอร์เซ็นต์ทุกวันศุกร์โดยครูฝึกในสถานประกอบการ นอกจากนี้ นักศึกษาทุกคนต้องเรียนรู้ทุกสถานีในภาคการผลิต ซึ่งการฝึกประสบการณ์ในลักษณะนี้ มีเสียงสะท้อนจากครูผู้สอนในวิทยาลัยว่า นักศึกษาจะมีความรู้เรื่องศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นศัพท์เฉพาะทางมากขึ้น
ด้านนายไพบูลย์ อังคณากรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท อาซีฟา จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเป็นศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากอาชีวศึกษา จึงเข้าใจถึงปัญหาของการจัดการเรียนการสอนด้านช่างอุตสาหกรรมดีว่า มีความขาดแคลนวัสดุฝึกที่มีราคาแพง ขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัย และองค์ความรู้ที่เรียนมาจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ดังนั้นหากสถานประกอบการต้องการกำลังคนแบบใดก็ควรที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการพัฒนากำลังคนให้เป็นแบบที่ต้องการ เพราะเชื่อว่าคุณภาพคนจะทำให้คุณภาพของสินค้าและบริการดีมีคุณภาพตามไปด้วย ส่วนน้อง ๆ ที่มาฝึกประสบการณ์กับบริษัท เมื่อได้ฝึกกับครูฝึกที่ชำนาญการ และฝึกกับอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสนุกกว่าเรียนในห้องเรียน การได้ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ทำให้เกิดแรงจูงใจ ทำให้ตื่นเต้น ต้องทำงานแข่งกับตนเอง แข่งกับเวลา ถ้าเอาชนะได้ถือว่าประสบผลสำเร็จ จึงต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทุกวัน การเรียนรู้จากครูฝึกที่เป็นพี่เลี้ยงทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน จนกลายเป็นการใช้ชีวิตร่วมกันแบบครอบครัว และเกิดทักษะที่ดีทางสังคมไปด้วย
นายณรงค์ กล่าวปิดท้ายว่า สอศ. ต้องการสร้างคน พัฒนาคนให้มีความเป็นเลิศในวิชาชีพแต่ละสาขา ความร่วมมือกับสถานประกอบการจึงเป็นเรื่องสำคัญ การฝึกคนเพื่อให้มีคุณภาพจึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของทั้งภาครัฐและเอกชนมาผสมผสานกัน และขณะนี้ สอศ. ได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีหลากหลายสาขา เพื่อผลิตคนออกไปพัฒนาประเทศ ดังที่กล่าวกันว่า "การศึกษาสร้างคน อาชีวะสร้างชาติ" จึงขอเชิญชวนให้ผู้ปกครองพิจารณาการเรียนสายอาชีพ หรืออาชีวศึกษา ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการศึกษาต่อของบุตรหลาน เพราะเชื่อมั่นว่าจบแล้วมีงานทำทันที มีรายได้ที่มั่นคง