กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า บทบาทภารกิจของ สศก. ในการจัดทำและบริการข้อมูลสารสนเทศการเกษตรที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรที่สำคัญเพื่อให้เกษตรกรทราบถึงข้อมูลช่วงเวลาการผลิตและการเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตรในแต่ละเดือนของปีเพาะปลูกนั้นๆ โดยได้จัดทำและรวบรวมสินค้าเกษตรสำคัญ 20 ชนิด เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรใช้ในการวางแผนการผลิตและผู้สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน สศก. ได้พัฒนาการจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรให้ลงลึกในรายละเอียดระดับจังหวัดมากยิ่งขึ้น โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในด้านการผลิตแล้ว ยังเสริมสร้างความมั่นคงอาหาร รวมทั้งสร้างสมดุลตลาดสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชนและท้องถิ่นไปพร้อมกันอีกด้วย
สำหรับการจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรระดับจังหวัด สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ในส่วนภูมิภาค เพื่อร่วมกันจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรระดับจังหวัด โดยจะคาดการณ์ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละเดือนล่วงหน้า
ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ สศก. ได้กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จัดทำปฏิทินฯ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 และจัดส่งข้อมูลการจัดทำปฏิทินให้กับ สศก. เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอผลการจัดทำปฏิทินต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ และคณะกรรมการอาหารแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ การจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรระดับจังหวัด จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนการผลิตและการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การวางแผนส่งเสริมหรือปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับช่วงเวลาเพาะปลูกหรือการผลิตและความต้องการของตลาด การส่งเสริมคุณภาพและความปลอดภัยตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ดิน การเตรียมปัจจัยการผลิต การกระจายสินค้าเกษตรจากแหล่งผลิตไปยังจังหวัดที่ยังมีความต้องการผลผลิต และช่วยวางแผนหรือเตรียมการรับมือกับสถานการณ์สินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยผ่านกลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อพก.) ตลอดจนนำมาใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการความมั่นคงอาหารและโภชนาการ ทราบถึงแหล่งผลิตอาหารในระดับพื้นที่ ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561 - 2580) ซึ่งเมื่อหน่วยงานในระดับจังหวัดจัดส่งข้อมูลปฏิทินสินค้าเกษตรแล้วเสร็จ ทาง สศก. จะจัดทำเป็นปฏิทินรายจังหวัดเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป