กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--พาร์ทูโกล
JCK รับแรงบวก 2 เด้ง หลังแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินใน EEC คลอด หนุนให้พื้นที่อุตสาหกรรม พุ่งเท่าตัว จาก 2,500 ไร่ เป็น 5,000 ไร่ และราคาขายที่ดินโตได้อีก 10-20% มาในจังหวะความต้องการใช้ที่ดินเพิ่มจากทุนต่างชาติไหลลงทุน ทั้งจากจีน ยุโรป กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โลจิสติก สนับสนุนการเติบโตในระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า
นายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือJCK ในฐานะผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ "แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562" หรือ EEC ครอบคลุมใน 3จังหวัดหลัก คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
ผลดังกล่าวส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจของ JCK ในฐานะผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก เพราะจะเป็นปัจจัยหลักทำให้จำนวนที่ดินที่จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมTFD ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 2,500 ไร่ เป็น 5,000 ไร่ ขณะเดียวกันคาดว่าจะส่งผลให้ราคาขายที่ดินต่อไร่ เพิ่มขึ้น 10-20% เนื่องจากตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า พื้นที่จังหวัดดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงทั้งในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมและขนส่ง รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะระบบการป้องกันอุบัติภัย
"บริษัท จะได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะจำนวนที่ดินภายใต้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัท อยู่ในพื้นที่EEC นอกจากจำนวนที่ดินจะเพิ่มขึ้น และคาดว่าราคาขายต่อไร่ จะเพิ่มขึ้นอีก 10-20% จากปัจจุบันขายที่ 9.5 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งคาดว่าจะรองรับการเติบโตของบริษัทในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า" นายอภิชัยกล่าว
ความชัดเจนทางด้านแผนผังที่ดินในโครงการ EEC ดังกล่าว เกิดขึ้นในจังหวะเหมาะสม นักลงทุนเกิดการเคลื่อนย้ายลงทุน ผลจากสงครามการค้า ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ โดยพบว่าขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติแสดงความต้องการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น อาทิเช่น กลุ่มทุนจากประเทศจีน ยุโรป เป็นต้น กระจายในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ โลจิสติกส์ เป็นต้น