กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--
แม้ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาว่างอ่านหนังสือเพียงปีละ 2 เล่ม ใช้เงินซื้อหนังสือประมาณ 285 บาทต่อคนต่อปี แต่ในปี 2550 ที่ผ่านมาจำนวนหนังสือออกใหม่ที่เข้าสู่ร้านหนังสือมีมากถึง 955 เรื่องต่อเดือน จำนวนดังกล่าวนับว่ามีความน่าสนใจมาก และชี้ให้เห็นถึงโอกาสและแนวทางในการขยายโอกาสในการอ่านหนังสือให้กับคนไทยได้เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจัยที่สนับสนุนให้คนไทยรักการอ่าน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วยังแตกต่างกันอยู่อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ดีเป้าหมายของการผลักดันให้คนไทยรักการอ่าน ไม่ใช่เพียงเพื่อให้มีสถิติดี แข่งขันกับนานาประเทศได้ แต่เป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และคนไทยมีการพัฒนา ทางด้านความรู้ ทักษะต่างๆ ที่ได้มากขึ้นจากการอ่าน
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะค่อนข้างซบเซา แต่ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์ ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2549 มียอดจำหน่ายรวม 17,000 ล้านบาท ส่วนในปี พ.ศ. 2550 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายรวม 18,000 ล้านบาท โดย 88% ของยอดจำหน่ายโดยรวมยังมาจากสำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ หรือประมาณ 110 สำนักพิมพ์ จากทั้งหมด 491 สำนักพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (ส.พ.จ.ท.) (The Publishers and Booksellers Association of Thailand)
นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (ส.พ.จ.ท.) กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสำนักพิมพ์ในปี 2551 ว่า ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์ในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ส่งผลให้ธุรกิจโดยรวมมีมูลค่ากว่า 19,800 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม ที่คาดว่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ต้นทุนน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมไปถึงวัตถุดิบหลัก เช่นกระดาษ น้ำหมึก ที่ปรับราคาขึ้น จะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้เรื่องของเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาซับไพร์ม ล้วนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และเลือกจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างระมัดระวัง
ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารต้นทุน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้ ทั้งนี้เชื่อว่าในปีนี้ธุรกิจสำนักพิมพ์จะยังคงมีการแข่งขันสูง ทั้งจากสำนักพิมพ์เดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามา อย่างไรก็ดีด้วยขนาดของผู้ประกอบการที่แตกต่างกันและมีความหลากหลาย ทำให้ธุรกิจสำนักพิมพ์เป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการเข้าและออกได้ง่าย แต่หากผู้ประกอบการไม่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ก็จะไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจได้
ทั้งนี้ ส.พ.จ.ท. เปิดเผยถึงข้อมูลและสถิติ ของสำนักพิมพ์และร้านหนังสือในประเทศไทย ในปี 2550 ว่า ในปีที่ผ่านมาจำนวนสำนักพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของส.พ.จ.ท. ลดลง 1 ราย โดย 3 ใน 4 หรือ 77.5% ของธุรกิจสำนักพิมพ์ ยังคงเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งมียอดจำหน่ายโดยรวมน้อยกว่า 30 ล้านบาท การแข่งขันในธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดกลาง ซึ่งมียอดจำหน่ายโดยรวม 30 — 100 ล้านบาท และสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งมียอดจำหน่ายโดยรวมมากกว่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้มีการขยายตัวในอัตราส่วนที่ค่อนข้าง โดยปัจจัยมาจากการได้เปรียบในด้านการแข่งขัน ขนาดการผลิต และการบริหารค่าใช้จ่าย
โดยหนังสือออกใหม่ในปี 2550 หากจำแนกตามชื่อเรื่อง จะพบว่ามีหนังสือออกใหม่รวม 11,455 เรื่อง สูงกว่าปี 2549 ในสัดส่วน 31.4% ซึ่งคาดว่าในปี 2551 จำนวนหนังสือออกใหม่จะอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปี 2550 เนื่องจากสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังระมัดระวังเรื่องของการผลิตเป็นหลัก ทั้งนี้ยอดจำหน่ายหนังสือในปี 2550 ซึ่งมีประมาณ 18,000 ล้านบาทนั้น 62.8% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ รองลงมาคือ 25% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดกลาง ส่วนที่เหลือ 12.2% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก
จากสถิติดังกล่าวยังพบว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี 2546 — 2550 คนไทยใช้เงินในการซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น โดยในปี 2546 คนไทยใช้เงินซื้อหนังสือเฉลี่ย 166.42 บาทต่อคนต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 210.55 บาท , 239.78 บาท , 259.93 บาท และ 285.54 บาท ตามลำดับ หากเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร ซึ่งอ้างอิงจากสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วจะพบว่าอัตราการใช้เงินซื้อหนังสือต่อรายได้ต่อคน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.22% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความรู้ อย่างเพียงพอ ส.พ.จ.ท. ยังระบุว่า ในปี 2550 จำนวนร้านหนังสือที่เปิดให้บริการมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเติบโตถึง 100.31% การเติบโตดังกล่าวเกิดจากร้าน Book Smile ซึ่งเป็นร้านหนังสือในเครือเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่ขยายสาขาจำนวนมาก อย่างไรก็ดีจำนวนร้านหนังสือในประเทศไทย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 676 ร้านในปี 2546 เป็น 759 ร้าน ในปี 2547 , 848 ร้าน ในปี 2548 , 955 ร้านในปี 2549 และ 1,913 ร้านในปี 2550 แต่ปัญหาจำนวนร้านหนังสือยังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ซึ่งในปี 2550 มีการประมาณการจำนวนประชากรไทยรวม 63,038,247 คน (ข้อมูลสถิติจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) จะพบว่า ร้านหนังสือ 1 ร้านรองรับประชากรเฉลี่ย 32,952 คน
สาเหตุดังกล่าวทำให้การเข้าถึงหนังสือเป็นไปได้ยาก ดังนั้นภาครัฐจึงต้องมีนโยบายพิเศษเพื่อผลักดันให้เกิดร้านจำหน่ายหนังสือ ร้านหนังสือเช่าจำนวนมาก และกระจายในท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะร้านหนังสือในระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ดีการผลักดันให้การอ่านหนังสือ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และคนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพูนความรู้ ทักษะในหลายๆด้าน ดังแนวคิดที่ว่า “ความรู้ ...ยิ่งอ่าน ยิ่งได้” (Knowledge the more you read the more you gain) ที่ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดหลักในการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 6
โดยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก็เป็นหนึ่งในช่องทางการผลักดันให้เด็ก เยาวชน และคนไทยได้มีโอกาสสัมผัส และเลือกซื้อหนังสือได้อย่างหลากหลาย โดยจะมีการออกบูธจำหน่ายหนังสือรวม 870 บูธจาก 400 สำนักพิมพ์ รวมไปถึงนิทรรศการ การสัมมนาให้ความรู้ในหลากรูปแบบ โดยงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม — 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น คาดว่าจะมีผู้เข้าชมและเลือกซื้อหนังสือมากกว่า 1.5 ล้านคน และมีเงินสะพัดมากกว่า 500 ล้านบาท และเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจสำนักพิมพ์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอีกด้วย