ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 12, 2019 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--KW (Thailand) โบรกเกอร์อสังหาฯรายใหญ่ หนุนการเลื่อนบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยทำให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษี เข้าใจ และไม่ใช้อำนาจเลือกปฎิบัติมากจนเกินไป ห่วงตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 จะยิ่งถดถอย เหตุลูกค้าที่ต้องโอนที่อยู่อาศัยจะเจอเกณฑ์หนักของ LTV เหตุผู้ซื้อยังไม่มีเงินสะสมพอ ตามที่ กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญในเรื่อง "การขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562" เนื่องจากมีความล่าช้าในการพิจาณาออกกฎหมายลำดับรองอีก 8 ดังนั้น จึงเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาดำเนินการ ของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2563 เป็นการทั่วไปนั้น นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท KW (Thailand) บริษัทตัวแทนขายและที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มียอดขายสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกาและมีเครือข่ายจำนวนพนักงานสูงที่สุดทั่วโลก ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับขยายการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่พร้อมและมีอุปสรรคในหลายๆด้าน เช่น การสำรวจและประเมิน การเริ่มใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ยังมีช่องว่างในการบังคับใช้ที่ต้องกลับมาพิจารณา เช่น พนักงานตรวจสอบและบังคับเป็นหน่วยงานเดียวกัน ที่อาจจะทำให้เกิดอำนาจมากเกินไป ทำให้อาจจะเกิดการเลือกปฎิบัติได้ นอกจากนั้น การเริ่มใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินใหม่ จะส่งผลลบต่อสภาพตลาดเชิงจิตวิทยา ซึ่งสวนทางกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เช่น การเพิ่มการลดหย่อนภาษี การลดค่าโอน ค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% และโครงการบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งยังมีความสับสนในภาคปฏิบัติรวมทั้งการลงทะเบียนขอสิทธิ์อยู่ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2563 ยังมีผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 และคาดว่าจะส่งผลรุนแรงขึ้นต่อตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการ LTV ในกรณีที่ทำสัญญาก่อน 15 ตุลาคม 2561 เริ่มจะทยอยโอนหมดไปในไตรมาสแรกของปี 2563 ดังนั้น การระบายสต๊อก จึงต้องขายให้กับผู้ซื้อที่เข้าเกณฑ์ LTV เกือบทั้งหมด ปี 2563 จึงจะเกิดผลกระทบอย่างแท้จริงจากมาตรการ LTV ซึ่งผู้ซื้อยังไม่มีเงินสะสม (เงินสด) ที่จะใช้ในการชำระเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มในการถดถอยของตลาดอย่างมาก นอกจากนั้น ผลกระทบจากค่าเงินบาทยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้กำลังซื้อลดน้อยลง ดังนั้น การใช้นโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อาจจะเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิด เนื่องจากสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกดิจิทัล และการเพิ่มขึ้นของการใช้ Crypto Currency ทั่วโลกให้ค่าเงินบาทไม่มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงได้ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจที่วางไว้ 10 ปีข้างหน้า อาจจะไม่มีประโยชน์ ถ้าตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการถดถอยในช่วงระยะเวลานี้ จึงเรียกร้องให้ใช้ข้อมูลประเมินผลจากการใช้ LTV อย่างจริงจังและตรงกับความเป็นจริง และพิจารณาการปรับมาตรการนี้อย่างเร่งด่วน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ