กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--กรมทรัพย์ยากรทางทะเลและชายฝั่ง
จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่กำลังประสบปัญหาในหลายพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภคของประชาชน หลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้เร่งลงพื้นที่ จ. เพชรบุรี ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง พร้อมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว และย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายใส่ใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันที่11ธค.62 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสพพิบัติภัยทุกประเภทไว้แล้ว พร้อมแผนการรับมือพิบัติภัย นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการให้การช่วยเหลือในหลายรูปแบบด้วย
ในการนี้ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในพื้นที่ว่า วานนี้ (11 ธันวาคม 2562) ตนได้รับข้อสั่งการจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) ให้ตนเดินทางลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้งโดยด่วน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดย รมว. ทส. ได้ฝากความห่วงใยและกำลังใจมาให้ผู้ประสบภัย เนื่องจาก ขณะนี้ รมว. ทส. ได้เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ราชอาณาจักรสเปน ตนจึงเร่งลงพื้นที่เพื่อเป็นประธานรับเรื่องร้องเรียนปัญหาภัยแล้ง ณ ที่ทำการ อบต. โพพระ อ. เมือง จ. เพชรบุรี พร้อมด้วย นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ ผอ. สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายนิพนธ์ ไชยสาลี รักษาการ ทสจ. จังหวัดเพชรบุรี นายชาตรี วชิรเผด็จศึก ผอ. สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี นายอภิชัย เอกวนากูล ผอ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมชี้แจงและเตรียมให้ความช่วยเหลือ รวมกว่า 50 นาย พร้อมกันนี้ กอ.รมน. จ.เพชรบุรี เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ด้วย ในการนี้ มีประชาชนจากตำบลโพพระ ตำบลบางแก้ว กว่า 300 ชีวิต เข้าร้องเรียนปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากประจำทุกปี เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและการทำการเกษตร ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ภายหลังการหารือร่วมกัน ได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยขอให้มีการขุดลอกคลองต้นทางน้ำที่ตื้นเขิน บริเวณ ต. ต้นมะม่วง ระยะทางประมาณ 2 กม. นอกจากนี้ ได้ประสานให้นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ประสานงานกรมการทหารช่าง เพื่อจัดรถแบ็คโฮมาดำเนินการต่อไป และขอให้เพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำจากชลประทาน รวมทั้งขยายระยะเวลาการปล่อยน้ำไปอีก 15 วัน จากกำหนดเดิม สำหรับระยะยาว ให้มีการศึกษาการขยายพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่นาเกิดใหม่ การทำแก้มลิง อ่างพวง และ ธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเติมน้ำลงใต้ดินในฤดูน้ำหลาก สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง รวมถึงการขุดลอกขยายคลองต่อไปในอนาคต ในช่วงสุดท้ายของการประชุมนายยุทธพล อังกินันทน์ กล่าวยืนยันว่า "การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาซ้ำซากในหลายพื้นที่ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เนื่อจาก สาเหตุหลักประการหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบต่อมนุษยชาติเป็นวงกว้าง ขอให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน" นายยุทธพล อังกินันทน์ กล่าวถึงปัญหาและสาเหตุของปัญหาภัยแล้งในปีนี้