กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2551 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจะนำไปกำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตลอดจนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบรรเทา ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยแล้ง นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานการประชุม เปิดเผยว่า เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยลง เป็นเหตุ ให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำเพื่อการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2551 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีหน้าที่อำนวยการ และประสานแผนปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งบูรณาการประสานการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย และเพื่อให้การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2551 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเตรียมการรับสถานการณ์สภาวะการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2551 ครั้งที่ 1 /2551 เพื่อรับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำต้นทุน ในอ่างเก็บน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจะได้นำไปใช้กำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยในปีนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้จังหวัดเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งตั้งแต่เดือนธันวาคม ทั้งการสำรวจหมู่บ้านและชุมชนที่มีความเสี่ยง จัดทำแผนเฉพาะกิจ แผนการแจกจ่ายน้ำ เตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ ให้พร้อมใช้การ ขุดลอกคูคลองแหล่งน้ำสาธารณะ ให้สามารถกักเก็บน้ำในหมู่บ้าน ซึ่งการเตรียมความพร้อมป้องกันภัยแล้งอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ได้กำหนดนโยบายการจัดสรรน้ำ โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน ให้สอดคล้องกับปริมาณต้นทุนน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยมีแผนการจัดสรรน้ำตามความสำคัญ ได้แก่ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการประปา เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม การขับไล่น้ำเสีย เพื่อการเกษตรกรรม และเพื่อการอุตสาหกรรม นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ในฤดูร้อนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย แต่จะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าปกติ ทำให้ภาพรวมของประเทศ สภาพความแห้งแล้งไม่รุนแรงมากนัก โดยขณะนี้ มีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 34 จังหวัด 201 อำเภอ 1,121 ตำบล 6,725 หมู่บ้าน น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีถึง 46 จังหวัด 410 อำเภอ 2,348 ตำบล 17,688 หมู่บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งอาจทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ จึงได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนให้จังหวัดดำเนินการเพิ่มเติม 5 มาตรการ ดังนี้ ด้านการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค โดยให้อำเภอประสานกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำประจำชุมชนให้เพียงพอ ด้านการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร เน้นการจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง เพื่อป้องกันความแห้งแล้ง โดยขอความร่วมมือเกษตรกรปลูกพืชตามแผน งดทำนาปรัง ครั้งที่ 2 ด้านการสร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพระยะสั้น โดยขอความร่วมมือให้ผู้รับเหมาโครงการ อปท. จ้างแรงงานในหมู่บ้านร่วมโครงการเพื่อสร้างรายได้ ด้านการดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อป้องกันโรคช่วงฤดูร้อน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนบริโภคอาหาร และน้ำดื่มที่สะอาด ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กำหนดแผนป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้ายในช่วงฤดูแล้ง เพื่อมิให้เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือให้ส่วนราชการบูรณาการปฏิบัติ และใช้ข้อมูลเดียวกันในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ กำลังคน เพื่อมิให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งซ้ำซ้อน และเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ ภัยแล้งที่เกิดขึ้น