กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
วันนี้ (13 ธันวาคม 2562) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 โดยมี นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นเลขานุการในการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และแผนปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมในวันนี้ได้รับทราบผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป ประกอบด้วยการกำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนกลยุทธ์ การแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการฯ แผนแม่บทน้ำฯ การกำหนดกรอบปฏิทินในการดำเนินงาน ตลอดจนการพิจารณาแผนปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยองค์การจัดการน้ำเสีย ดำเนินการระหว่าง ปี 2564–2580 โดยส่งเสริมให้มีการจัดสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ แบ่งกรอบการดำเนินงาน 3 ระยะ รวมระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องก่อสร้าง 780 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1.70 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้องค์การจัดการน้ำเสียดำเนินการตามขั้นตอน กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยในกรณีที่เป็นภารกิจถ่ายโอนภารกิจ ต้องเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือจัดทำกรอบความร่วมมือระหว่างในการดำเนินการ (MOU) ต่อไป เพื่อเป็นไปตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2562 และ ปี 2563 โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอีก 10 ปี ข้างหน้าอย่างพอเพียง ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลทั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) และรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 14 โครงการ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก 513,960 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 453,583 ราย (ประมาณ 729,542 คน) แต่เนื่องจากแผนปฏิบัติดังกล่าวมีเป้าหมายและรายละเอียดเพียงในระยะปี 62-63 เท่านั้น ที่ประชุมจึงมอบให้ กปภ. กลับไปจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมให้ครบทุกแผนงาน และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอและชัดเจนยิ่งขึ้น
โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่โดยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนประเภทน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ด้วยเครื่องสูบน้ำ ซึ่งมีระบบเชื่อมต่อกับแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำ เข้าไปสำรองเก็บในถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ พร้อมพัฒนาระบบกระจายน้ำและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 5,583 แปลง โดยมีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 320,453 ราย ในพื้นที่ 5,520,422 ไร่ โดยที่ประชุมให้นำแผนงานเร่งด่วนจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการให้ชัดเจน โดยต้องพิจารณากฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอให้ กนช. พิจารณา รวมทั้งให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนรูปแบบโครงการ เป้าหมาย และพื้นที่ดำเนินการให้ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน รวมทั้งจัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในระยะ 20 ปี และเสนอให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปปรับปรุงรายละเอียดในส่วนที่รับผิดชอบเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาอีกครั้งในการประชุมวันที่ 20 ธันวาคม 2562 นี้ และขอให้ทุกหน่วยงานด้านน้ำร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนแผนงานภายใต้แผนแม่บทน้ำ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างความมั่นคง ยั่งยืน ด้านน้ำ ให้กับประชาชนต่อไป