กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มักเกิด ภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี พร้อมเตือนให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรควรวางแผน การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมกำชับให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เก็บกักน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นายไชโย ฤทธิรงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า แม้จังหวัดกาญจนบุรีจะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีอุณหภูมิสูงและอากาศร้อนจัด ทำให้มักประสบสภาพความแห้งแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ 4 อำเภอที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ อำเภอ บ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับสูง — ต่ำ และ อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรเป็นประจำทุกปี จากการสำรวจพบว่าจังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งและจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการ ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค — บริโภค ในปี 2551 จำนวน 401,435 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ 61 ตำบล 333 หมู่บ้าน 31,238 ครัวเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 116,919 คน นายไชโย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้ประกาศให้หมู่บ้านในพื้นที่อำเภอพนมทวน เป็นพื้นที่ประสบ ภัยพิบัติฉุกเฉินกรณีภัยแล้งแล้ว ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งโดยรวมของจังหวัดกาญจนบุรีจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้กำชับให้นายอำเภอประสานการแก้ไขปัญหากับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น หากพื้นที่ใดยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ประชาชนสามารถประสานไปยังนายกองค์กรปกครองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายอำเภอเพื่อขอรับความช่วยเหลือ ส่วนด้านน้ำเพื่อการเกษตร ขอให้เกษตรกรที่ปลูกพืชในฤดูแล้ง วางแผนเพาะปลูกพืชตามสถานการณ์ต้นทุนน้ำ เพื่อป้องกันสภาพแห้งแล้งฉับพลัน ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อพืชผล ทางการเกษตร นอกจากนี้จังหวัดจะได้จัดหาภาชนะเก็บกักน้ำฝน บ่อบาดาล และเร่งตรวจสอบซ่อมแซมดูแลให้พร้อมใช้งานก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง อีกทั้งจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกเดือน เพื่อติดตามการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สุดท้ายนี้ ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ให้ร่วมกันใช้น้ำ อย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี