กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) แก่เกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ 1,326 ราย โดยมีพันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบึงกาฬ ณ โรงเรียนศรีวิไลวิทยา อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ว่า จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งสิ้น จำนวน 8 อำเภอ 52 ตำบล เนื้อที่ประมาณ 1,277,306 ไร่ เดิมพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 8 อำเภอดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองคาย ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ โดยให้แยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ออกจากเขตการปกครองของจังหวัดหนองคาย จึงมีผลให้พื้นที่ 8 อำเภอ เป็นเขตปฏิรูปที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีรายละเอียดการจัดที่ดิน ประกอบด้วยที่ดินของรัฐ ได้ดำเนินการจัดที่ดินและมอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกร เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ไปแล้ว จำนวน 80,813 ราย 90,446 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,095,964 ไร่ และที่ดินเอกชน ได้ดำเนินการจัดที่ดินโดยการทำสัญญาเช่าและสัญญาเช่าซื้อ จำนวน 10 ราย 12 แปลง เนื้อที่ประมาณ 167 ไร่ รวมทั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ส.ป.ก.จังหวัดบึงกาฬ ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 2,900 ราย 3,249 แปลง เนื้อที่ประมาณ 33,764 ไร่ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 15 โครงการ
"วันนี้ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) แก่เกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 1,326 ราย 1,459 แปลง เนื้อที่ 39,230 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 4,669 ไร่ ได้มอบนโยบายให้ ส.ป.ก. เร่งดำเนินการและมอบเอกสารสิทธิ์ฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน สำหรับพื้นที่ ส.ป.ก. จังหวัดบึงกาฬ ส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกยางพารา ซึ่งจากการประชุม ครม. เมื่อ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการใช้ยางพาราและความคืบหน้าในการเพิ่มการใช้ยางพาราของแต่ละกระทรวงตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเสนอ โดยในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีเป้าหมายการใช้น้ำยางสด 90,356.440 ตัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมผลักดันมาตรการสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการสนับสนุนการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย" รมช.ธรรมนัส กล่าว
หลังจากนั้น รมช.ธรรมนัสได้เดินทางไปตรวจติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดบึงกาฬ (ศพก.) ซึ่ง ศพก. แห่งนี้ขยายผลองค์ความรู้จาก ศพก.อำเภอศรีวิไล (นายวิชิต โพธิ์ขี) โดยมีนายประวิทย์ ทุ่งคำ เป็นเจ้าของศูนย์ฯ มีสมาชิกจำนวน 36 ราย ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก.จังหวัดบึงกาฬ องค์ความรู้เด่น ได้แก่ การทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยเฉพาะด้านไม้ผล เช่น มะพร้าวน้ำหอม และการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดย ส.ป.ก.จังหวัดบึงกาฬ ได้เข้ามาดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีการส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่มรับรองกันเอง (PGS) และดำเนินกิจกรรมวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน
นอกจากนั้น ส.ป.ก.จังหวัดบึงกาฬ ได้เพิ่มแผนดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมพืชสมุนไพรในเขตปฏิรูปที่ดิน และโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)และโครงการมอบสินเชื่อเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 20 ราย เป็นเงิน 1,000,000 บาท เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ ศพก.เครือข่าย และสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงต่อไปอีกด้วย