กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวตามที่คอลัมนิสต์นำเสนอบทความ โดยระบุตอนหนึ่งว่า จากผลสำรวจการอ่านของประชากร ประจำปี พ.ศ.2561 พบคนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้นเป็น 80 นาที/วัน โดยอ่านหนังสือเล่ม ร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากถึงร้อยละ 75.4 ซึ่งเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงว่า ในส่วนของ กทม. สำนักการศึกษา มีกระบวนการพัฒนาการอ่านของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยหน่วยศึกษานิเทศก์ได้จัดทำคู่มือส่งเสริมการอ่าน จำนวน 8 ชุด แบบประเมินการอ่าน เพื่อคัดแยกนักเรียนกลุ่มที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงแก้ไข โดยให้ศึกษานิเทศก์ตรวจติดตามและเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนแล้วรายงาน ผลเป็นรายเดือน พร้อมทั้งจัดทำโครงการสื่อภาษาไทย ร่วมกับกองเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อให้โรงเรียนใช้พัฒนาการอ่านของเด็กนักเรียนทุกคน ขณะเดียวกันยังมีการจัดประเมินความสามารถด้านการอ่าน (Reading Test : RT) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) แล้วนำนักเรียนกลุ่มที่มีผลคะแนนในระดับ "ปรับปรุง" (ต่ำกว่าร้อยละ 25.00) มาแก้ไขปัญหาการอ่านในเดือน มี.ค. ช่วงก่อนปิดภาคเรียน หรือต้นเดือน พ.ค.ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนของปีการศึกษาต่อไป นอกจากนั้นได้ทดสอบด้วยแบบประเมินความสามารถด้านการอ่าน (RT) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชุดเดิมอีกครั้ง ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษาต่อไป เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหาการอ่านของครู และนำมาพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการพัฒนาห้องสมุด กทม.มีห้องสมุดประชาชน จำนวน 36 แห่ง ประกอบด้วย หอสมุดเมือง จำนวน 1 แห่ง ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ จำนวน 30 แห่ง และรถห้องสมุดเคลื่อนที่ จำนวน 5 คัน โดยในแต่ละห้องสมุดได้จัดมุม Kid's Corner ให้บริการหนังสือและสื่อการเรียนรู้แก่เด็กนักเรียนและเยาวชน รวมทั้งมีโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มปรับปรุงห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของ กทม. ให้เป็นห้องสมุดดิจิทัลทั้งหมด คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และอยู่ระหว่างขออนุมัติปรับปรุงรถห้องสมุดเคลื่อนที่ จำนวน 5 คัน ให้เป็นรถห้องสมุดเคลื่อนที่ Mobile Libraly ซึ่งจะเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ที่ใช้ระบบดิจิทัล สามารถเข้าสู่พื้นที่ให้บริการแบบสังคมเมืองและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น