กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 16 ธ.ค. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 52,762.50 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ ว่า "BAM"
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "BAM" ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562
BAM จัดตั้งขึ้นในปี 2542 ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 และขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมการบริหารจัดการ NPLs และ NPAs ที่ได้มาจากสถาบันการเงินอื่น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี จึงทำให้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ ที่สุด และมีเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
BAM มีทุนชำระแล้ว 15,075 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.00 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวนรวม 1,765 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1,255 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเพิ่มทุน 280 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน 230 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลทั่วไป ในวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2562 และผู้ลงทุนสถาบัน ในวันที่ 3-4 และ 6 ธันวาคม 2562 ในราคาหุ้นละ 17.50 บาท ทั้งนี้หากไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวน 230 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 26,862.50 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าระดมทุนของบริษัท 4,900 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 52,762.50 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย
นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสริมศักยภาพทางการเงินในการขยายธุรกิจโดยซื้อ NPLs และ NPAs มาบริหารในอนาคต และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้ BAM คงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
BAM มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้น 41.46% 2) บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้จัดจำหน่ายหุ้นในต่างประเทศ) 10.69% และ 3) กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 1.53% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากวิธีการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหุ้นสามัญของผู้ลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคา (Book building) คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ที่ 1.73 เท่า (อัตราส่วนดังกล่าวคำนวณภายหลังการจ่ายปันผลระหว่างกาลจากงบการเงินงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 62) ทั้งนี้ BAM มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย
ผู้ลงทุนและผู้สนใจ โปรดดูรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.bam.co.th และที่www.set.or.th