กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงาน "ไทย-เดนมาร์ค มิ้ลค์สิค เฟสติวัล 2019" (Thai-Denmark Milksic Festival 2019) ณ ลานเนินนุ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้จัดงานดังกล่าวขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถรณรงค์สร้างการรับรู้และสร้างค่านิยมให้คนไทยทุกเพศทุกวัยที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมของนมไทย-เดนมาร์คและเลือกซื้อนมไทย-เดนมาร์คเป็นประจำอยู่แล้ว ยังคงรักและนิยมดื่มนมไทย-เดนมาร์ค โดยกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ อายุระหว่าง 13 – 53 ปี กลุ่ม Gen Z (อายุ 8 – 20 ปี) ถึงกลุ่ม Gen X (อายุ 38 - 53 ปี) ที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคของตนเองได้หันมาสนใจและดื่มนมไทย-เดนมาร์คมากขึ้น
การจัดกิจกรรมการรณรงค์ในครั้งนี้ จะได้ประโยชน์ในหลายด้าน คือ 1) ทำให้แบรนด์ไทย-เดนมาร์ค ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้รัฐวิสาหกิจของกระทรวงเกษตรฯ มีรายได้จากอัตราการเติบโตทางการตลาดที่มั่นคงและแข็งแรงยิ่งขึ้น 2) ช่วยรองรับปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรโคนมไทยไม่ต้องประสบปัญหาน้ำนมล้นตลาดเหมือนในอดีต และ 3) ส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีให้กับคนไทยทั่วประเทศสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด "โคนมอาชีพพระราชทาน" ซึ่งเป็นอาชีพทรงคุณค่าที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ให้แก่เกษตรกรไทย ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง
"กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ส่งเสริมงานวิจัยการเลี้ยงโคนม เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการฟาร์มโคนมให้แก่เกษตรกรในด้านการผลิต สนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกร และจากสถิติพบว่าคนไทยมีการบริโภคนมเพียง 18 ลิตร/คน/ปี ยังน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ในขณะที่อัตราเฉลี่ยการบริโภคนมของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ในระดับ 113 ลิตร/คน/ปี คณะอนุกรรมการรณรงค์การบริโภคนมจึงได้กำหนดเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการดื่มนมของคนไทย จากปริมาณ 18 ลิตร เป็น 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2569 จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็ง และสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมยุคใหม่ ให้เร่งปรับตัวรองรับการเปิดเสรีทางการค้าหรือ Free Trade Area : FTA ที่มีต่ออุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมนมไทยให้ดียิ่งขึ้น