กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กทม.
กรุงเทพมหานครเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาวงการแพทย์สนองนโยบายการให้บริการสาธารณสุขใกล้ชิดประชาชน ในขณะที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลรับลูกจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับเวชศาสตร์เขตเมืองเน้นศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพการเกิดโรคในพื้นที่เมือง
นายแพทย์สิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการปัจฉิมนิเทศนักศึกษาแพทย์ ณ ห้องประชุมชั้น 10 อาคารมหาวชิราวุธ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจให้แก่นักศึกษาแพทย์ที่สำเร็จการศึกษา ก่อนที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่สำคัญในการบริการตรวจรักษาโรคให้กับประชาชนในสังคมต่อไป โดยมีนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 10 เข้าร่วมจำนวน 29 คน
สำหรับวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล เป็นสถาบันผลิตแพทย์ ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีภารกิจในการจัดการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ซึ่งเริ่มรับนักศึกษาแพทย์มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 โดยมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถในเชิงวิชาการตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา และปลูกฝังให้ผู้เรียนมีสำนึกที่ดีในเชิงคุณธรรม จริยธรรมที่เหมาะสมกับวิชาชีพแพทย์ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยฯ เป็นบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม ซึ่งปัจจุบันวิทยาลัยฯ สามารถผลิตแพทย์ได้ทั้งหมด 9 รุ่น รวม 264 คน ส่วนรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 10 โดยจะกระจายออกไปเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2541—2544 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้มีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาแพทย์ของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ซึ่งเป็นการส่งเสริมและเพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของสถานพยาบาลในการขยายการบริการให้กับประชาชนตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตกรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะสนับสนุนการพัฒนาวงการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการด้านสาธารณสุขครอบคลุมทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร อันจะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีและทั่วถึง ในขณะที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ได้มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ซึ่งเน้นการให้บริการใกล้ชิดประชาชน อาทิ หลักสูตรเวชศาสตร์เขตเมือง โดยจะมีการศึกษาเรียนรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ สถานการณ์การเกิดโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และชุมชนเมือง เพื่อให้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป