กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--พี.อาร์.ยัง
วันนี้ (15 ธ.ค. 62) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ ติดตามความคืบหน้าและสำรวจความพร้อมการดำเนินงาน โครงการ"ยุวชนอาสา" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแนวคิด ยุวชนสร้างชาติ โดยเป็นการดึงพลังคนรุ่นใหม่ร่วมกับคณาจารย์ในการร่วมกันทำงานพัฒนาพื้นที่ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาประเทศ
โอกาสนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บอกว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ถือเป็น 1 เป็นใน 4 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ รัฐบาลจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการพัฒนา เนื่องจากจังหวัดกาฬสินธุ์มีศักยภาพและมีความพร้อมในหลายด้าน เช่น ด้านทรัพยากร, ด้านองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย และความเข้มแข็งของชุมชน จึงเลือกเป็นพื้นที่นำร่องโครงการ"ยุวชนอาสา" ซึ่งเป็นโครงการที่มีนิสิต-นักศึกษาจากหลากหลายสาขา ลงไปใช้องค์ความรู้จากวิชามาบูรณาการ ทำงานร่วมกันกับชุมชน ในการแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนในชุมชน โดยระยะเวลาในการดำเนินโครงงาน 1 ภาคการศึกษา จำนวน 83 โครงงาน ลงชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จาก ทั้งหมด 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ จากฐานข้อมูล จ.กาฬสินธุ์มีจำนวนคนจน จำนวน 12,916 คน ในการลงพื้นที่โครงการยุวชนอาสา ครบคลุมคนจน 4,527 คน คิดเป็นร้อย 35.05 ของคนจนทั้งหมด โดยพลังของนักศึกษาจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาชาติ อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวได้นำเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกได้ให้ความสนใจและตอบรับ เปิดโอกาสให้นักศึกษาในโครงการ"ยุวชนอาสา" ได้เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 มกราคมที่จะถึงนี้ เพื่อให้โอวาทเสริมพลังคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาประเทศ
ทางด้าน รศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บอกว่า โครงการยุวชนอาสา ถือเป็นโครงการหนึ่งที่ขับเคลื่อนโดยใช้กระบวนการวิจัยในการทำงานร่วมกันกับชุมชน ซึ่งที่ผ่าน สกสว. เดิมในขณะที่ทำหน้าที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เคยให้การสนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งยังคงมีการใช้ประโยชน์จนถึงปัจจุบัน โดยชาวกลุ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จ.กาฬสินธุ์ ยังคงนำการทำบัญชีครัวเรือนมาใช้ประกอบการทำอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จนกระทั่งมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
อย่างไรก็ตามบทบาทใหม่ของ สกสว. นั้นก็พร้อมที่จะสนับสนุนขับเคลื่อนโครงการยุวชนอาสา หลังจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความพร้อมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการ โดย สกสว. พร้อมจะสนับสนุนและส่งเสริม โครงการยุวชนอาสาซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดย สกสว. พร้อมเดินหน้าสนับสนุนการทำงานผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU: Program Management Unit)