กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--พี.อาร์.ยัง
นายเอกชัย เป็งวัง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และหัวหน้าโครงการการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรสำหรับทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ได้นำทีมคณะกรรมการอำนวยการโครงการร่วมฯ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนร่วมกับทีมงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าเยี่ยมชมการสาธิตและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเครื่องจักรทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ณ พื้นที่ทดสอบบนอาคาร 89 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ลงพื้นที่จริงที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (Sunny Bangchak) ของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายเอกชัย เผยความคืบหน้าว่า ปัจจุบัน โครงการ "การพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรสำหรับทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์" ได้ผลิตหุ่นยนต์ 2 รูปแบบ คือ หุ่นยนต์ต้นแบบสำหรับ solar farm และ หุ่นยนต์ต้นแบบสำหรับ Solar Rooftop โดยที่ต้นแบบของหุ่นยนต์ Solar farm จะมีลักษณะเป็น Modular Robot ที่สามารถปรับเปลี่ยนความยาวตามลักษณะของแผงต่างๆ (ในช่วง 1 - 4 เมตร) สามารถทำความสะอาดร่วมระหว่างการฉีดน้ำและการขัดด้วยแปรงที่สามารถปรับแรงกดได้ นอกจากนี้หุ่นยนต์มีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้ด้วยคน 2 คน ต้นทุนของหุ่นยนต์นี้อยู่ที่ราคา 70,000 - 100,000 บาท สำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์มที่มีขนาด 1 เมกะวัตต์ จะสามารถคืนเงินทุนได้ภายใน 6 เดือน แต่หากฟาร์มที่มีขนาดใหญ่กว่านี้จะสามารถคืนทุนได้เร็วขึ้นอีก สำหรับหุ่นยนต์สำหรับ Solar Rooftop จะมีลักษณะเป็น Mobile Robot ที่สามารถควบคุมให้เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระบนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับประเทศไทยที่นอกจากจะได้นวัตกรรมใหม่แล้ว ยังเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย
คำบรรยายภาพ
ทีมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ สกสว. ร่วมกับ ทีมประสานงาน กฟผ. เข้าเยี่ยมชมการสาธิตหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (Sunny Bangchak) ของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา