กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2548 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคนหรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยเหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กที่มีอายุ 10-14 ปี กว่า 60% ให้เหตุผลในการไม่อ่านหนังสือว่า เพราะไม่ชอบ และไม่สนใจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่ม ส่วนเวียดนาม มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 60 เล่ม ขณะที่คนไทยมีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 2 เล่ม นับว่าการอ่านหนังสือของคนไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตก็ว่าได้
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ศุนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เปิดเผยว่า เกือบ 1 ปีเต็มที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศ (ส.พ.จ.ท.) (The Publishers and Booksellers Association of Thailand) เดินหน้าผลักดันให้ “การอ่านหนังสือ” เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายขององค์กรต่างๆ และเชื่อว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป พร้อมกับยุทธศาสตร์อื่นๆที่นำเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นอีกแนวทางในการสนับสนุน และแก้ไขปัญหาการอ่านหนังสือของเด็กไทยให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหนังสือเด็กและเยาวชนให้มีรูปแบบที่น่าอ่าน การนำเสนอสื่อ e-book เพื่อสร้างความแตกต่างและน่าสนใจ ให้เด็กไทยเข้าถึงมากยิ่งขึ้น
นางริสรวล กล่าวอีกว่า การกระตุ้นให้เด็กไทยสนใจการอ่านหนังสือ เป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน แม้ที่ผ่านมาจะพบว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยไม่สนใจหรือไม่รักการอ่าน เพราะเกิดจากสาเหตุที่หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนมีจำนวนน้อยมาก แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า หนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชน มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชนมีการเติบโตและมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าตลาดรวมหนังสือ และคาดว่าในอนาคตหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชนจะเติบโตและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20-25%
การเพิ่มหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะกระตุ้นให้เด็กสนใจและรักการอ่านมากขึ้น ขณะเดียวกันการวางยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กไทยสนใจและรักการอ่านยังคงต้องดำเนินต่อไป ประกอบไปด้วยการกระจายหนังสือให้เข้าถึงมือเด็กและเยาวชน การส่งเสริมให้หนังสือมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม การปกป้องเด็กจากสื่อที่เป็นภัย และขจัดอุปสรรคต่อการอ่านหนังสือของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องของเกมส์ และสื่ออื่นๆ ที่ยากแก่การควบคุม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นอกจากสมาคมฯ และภาคีจะร่วมกันดำเนินการแล้ว ผู้ปกครอง สถานศึกษาจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เด็กเกิดนิสัยรักการอ่านหนังสือ
นางริสรวล กล่าวต่อไปว่า การหาเวทีให้เด็กๆ ได้มีโอกาสสัมผัส และร่วมเป็นเจ้าของนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะกระตุ้นให้เด็กไทยรักการอ่าน เช่นเดียวกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 (36th Nation Book Fair) และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 6 (Bangkok International Fair 2008) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และได้รับความสนใจจากทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าไปเลือกซื้อหนังสือ และร่วมกิจกรรม ที่จัดขึ้นภายในงานอย่างคับคั่ง
การสนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมงานดังกล่าว นอกจากจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เห็น และเรียนรู้การเลือกหาหนังสือให้กับตัวเอง ยังเป็นการร่วมทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการทอฝัน ปันหนังสือเพื่อน้อง การมอบหนังสือให้กับน้องๆ ที่ขาดแคลนได้มีโอกาสอ่านหนังสือใหม่ๆ โครงการแลกรู้แลกอ่าน (Book barter) การนำหนังสือเล่มโปรดมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน ซึ่งนอกจากจะได้อ่านหนังสือใหม่ๆ แล้วยังมีโอกาสได้พบปะเพื่อนใหม่อีกด้วย
“เป้าหมายสำคัญในการจัดงานสัปดาห์หนังสือ ก็เพื่อต้องการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการอ่านและอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู บรรณารักษ์และผู้เกี่ยวข้องรู้เทคนิค วิธีการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คนไทยและชาวต่างประเทศ ได้สัมผัสและแลกเปลี่ยน เรียนรู้หนังสือจากนานาชาติและหนังสือของไทย เพื่อศึกษา เรียนรู้การพัฒนาและเติบโตของหนังสือในแต่ละประเทศ ซึ่งจะสร้างให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ของไทยตื่นตัว ปรับปรุงพัฒนาการผลิตหนังสือให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย เพื่อให้เป็นที่รู้จัก และมีโอกาสก้าวสู่ตลาดในต่างประเทศ”
ทั้งนี้เพื่อให้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ น่าสนใจ นอกจากการจัดงานแสดงและจำหน่ายหนังสือ สื่อการศึกษา แล้วภายในงานยังมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการอบรมสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ และเวทีการแสดง ที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าชมงานนิทรรศการ การแสดง การเสวนา การเปิดตัวหนังสือจากนักเขียนชั้นแนวหน้าและสมัครเล่น การเลือกซื้อหนังสือหลากหลาย ทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือเด็ก หนังสือแบบเรียน หนังสือเก่า และหนังสือจากต่างประเทศรวมกว่า 870 บูธ จากสำนักพิมพ์กว่า 400 แห่ง
ที่ผ่านมาการจัดงานสัปดาห์หนังสือ นับว่าประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เด็กไทยสนใจและรักการอ่านหนังสือมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนเด็กและเยาวชนที่มาร่วมงานทั้งที่เดินทางมาเอง และมากับผู้ปกครอง รวมทั้งหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชนก็ได้รับความสนใจ มีการพัฒนาและผลิตหนังสือออกวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มเยาวชน ยังให้ความนิยมหนังสือนิยาย แนวญี่ปุ่น - เกาหลี เรื่องสั้น บทกลอน อีกด้วย
สำหรับการจัดงานงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 6 (Bangkok International Book Fair 2008) จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2551 และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 36 (36th Nation Book Fair) จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม — 7 เมษายน 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในวันที่ 26 มีนาคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ตั้งแต่เวลา 16.00 น. และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงานได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป โดยงานตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม — 7 เมษายน 2551 จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 10.00 — 21.00 น. สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandbookfair.com และwww.bangkokibf.com
อย่างไรก็ดี การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสนใจและรักการอ่าน คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรหรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง สถาบันครอบครัว สถานศึกษา องค์กรภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงองค์กรอิสระ ล้วนต้องเข้ามามีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมที่ดีและต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีบริบทใดที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาวในการสร้างค่านิยมในการอ่านให้เกิดกับเด็กไทย และเป็นเรื่องจำเป็นมากที่สุด ที่ต้องปลูกฝังให้เด็กไทยรักการอ่าน
การเดินหน้าผลักดันให้ “การอ่านหนังสือ” เป็นระเบียบวาระแห่งชาติจึงยังต้องมีต่อไป ก่อนที่จะวิกฤตเกินกว่าจะแก้ได้ !!!!