กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตกรณีนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางขยายกรุงเทพมหานครออกไปรอบนอก เพื่อสร้างให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สิ่งที่อาจขัดขวางการพัฒนาดังกล่าว คือ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่มีการปรับลดพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ชนบท (เส้นทแยงเขียว) เป็นพื้นที่รับน้ำระบายน้ำจากทางเหนือไม่ให้ผ่านกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนที่พาดไปทางทิศตะวันออกบางส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ จะส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิขวางทางระบายน้ำ นั้น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย สุขลักษณะ และสวัสดิภาพให้กับประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สมดุลกับศักยภาพพื้นที่ ด้วยการควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความหนาแน่นของอาคาร และกำหนดมาตรการทางผังเมืองต่าง ๆ ให้เหมาะสม ขณะเดียวกันในการจัดทำผังเมืองรวม กทม. ยังได้นำแนวคิดการพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาประยุกต์ใช้และส่งเสริม ภายใต้กรอบอำนาจที่ผังเมืองรวมสามารถสนับสนุนได้ ด้วยการจัดทำแผนผัง ข้อกำหนด และมาตรการทางผังเมืองที่เหมาะสมเช่น เขตเมืองชั้นใน ย่านปทุมวัน สีลม สาทร สุขุมวิท มักกะสัน และพหลโยธิน หรือฝั่งธนบุรี ย่านสะพานตากสิน คลองสาน ผังเมืองรวมได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นศูนย์พาณิชยกรรมหลัก ศูนย์คมนาคม และย่านนวัตกรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมือง ส่วนเขตพื้นที่รอบนอกได้ส่งเสริมให้เกิดความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่พักอาศัย ลดความแออัด และลดการเดินทางเข้าสู่เมืองชั้นใน
ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวลาย) เพื่อสงวนรักษาพื้นที่ไว้ช่วยระบายน้ำตามนโยบายการระบายน้ำของประเทศ เร่งปรับปรุงระบบการระบายน้ำในพื้นที่ให้สมบูรณ์ เพื่อลดความเสียหายและความเดือดร้อนของประชาชน หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ รวมทั้งเป็นแนวระบายน้ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากปริมาณน้ำหลากจะสิ้นสุดที่คลองประเวศบุรีรมย์ และระบายออกในพื้นที่ที่กำหนดไว้ลงสู่อ่าวไทยต่อไป ดังนั้น การปรับลดพื้นที่เขียวลายดังกล่าว จึงไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาเมือง แต่เป็นการช่วยลดความแออัด สามารถปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม สวพ. จะเร่งประชาสัมพันธ์รายละเอียดการปรับเปลี่ยนสาระสำคัญต่าง ๆ ในผังเมืองรวมฉบับใหม่ ให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจ ก่อนที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่จะประกาศใช้ในช่วงปลายปี 2563