กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยทักษิณ
บ่อยครั้งที่การคิดต่าง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ตอบโจทย์กว่าวิธีการเดิมๆ การกล้าคิดต่างไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในความกล้านั้นมักตามมาด้วยความหวั่นไหว ไม่มั่นใจ และมีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จอยู่ด้วยเสมอ ... เกษตรกรจึงมักจะทำซ้ำๆ ตามที่ทำกันมาวนเวียนอยู่ที่เดิมเพราะไม่อยากเสี่ยง จึงไม่ค่อยเกิดนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอาชีพตนเอง ... ที่บ้านกล้วยเภา ตำบลดอนประดู่ จังหวัดพัทลุง เกษตรกรถูกปลุกความกล้าให้ตื่น จับมือกับสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ "คิดต่าง" เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มบนผืนนา และใช้แผ่นดินอย่างคุ้มค่า
เวลา 3 ปี ในการเพียรพยายามฟื้นคืนชีวิตแผ่นดินที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืชที่ทำร้ายให้ผืนดินตายไร้ชีวิต ไม่เหลือประโยชน์ให้สรรพชีวิตได้ใช้เป็นแหล่งอาหาร เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ระบบห่วงโซ่อาหารในผืนนากลับมาชีวิตชีวาอีกครั้ง พบร่องรอยมูลไส้เดือนที่เป็นสารอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติให้ต้นข้าวได้ใช้ประโยชน์ มีกุ้ง หอย ปู ปลา และลูกคลัก นกกินปลาเริ่มมาแวะเวียน ... ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี และทีมนักวิชาการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ จึงไม่รีรอ ขายแนวคิดใหม่ของการจัดการผืนนาแบบผสมผสาน เพิ่มสิ่งมีชีวิตให้มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ สร้างภาพฝันร่วมกับคนในชุมชนว่าจะสร้างผืนนาที่ไม่ได้มีเฉพาะต้นข้าวอีกต่อไป โดยนำเอาศาสตร์พระราชามาขับเคลื่อนยกระดับวิถีการทำนาของชุมชนให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน
"เรานำศาสตร์พระราชา "ความรู้" ที่ช่วยให้พสกนิกรอยู่ดี กินดี มีความสุข และได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะการทำนาเพียงอย่างเดียวนั้น ชาวนามีความเสี่ยง มีความไม่มั่นคงทั้งจากปัจจัยภัยธรรมชาติ และราคาข้าว การทำนาแบบผสมผสานจะเลี้ยงปลาในนา และขยายคันนาให้มีพื้นที่มากขึ้นเพื่อปลูกพืชผักบนคันนาทั้งบนพื้นดินและบนฟ้า (ทำค้าง) สำหรับพืชไม้เลื้อย โดยร่วมกับแกนนำชุมชนสร้างโมเดลเพื่อการศึกษาวิจัยบนพื้นที่นา 3 ไร่ … เราทราบว่ามีอุปสรรคมากมายแต่ก็เป็นงานที่ท้าทาย และได้เตรียมรับมือกับปัญหาไว้แล้ว เช่น ปัญหานกกินปลา ปลาช่อนผู้ล่าตามธรรมชาติที่กินลูกปลา ปัญหาน้ำท่วม หรือแม้แต่ปัญหาขโมย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนานักวิจัยชุมชน ให้ร่วมคิด ร่วมทำ เรียนรู้และหาข้อสรุป ถ้าโมเดลนี้ตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างความสุขให้ชุมชน ก็จะขยายผลไปสู่วงกว้างต่อไป" ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ กล่าว
สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับชุมชนบ้านกล้วยเภาใช้วันมหามงคล วันที่ 5 ธันวาคม 2562 จัดโครงการสืบสานศาสตร์พระราชา นาสร้างสุข ประกอบด้วย กิจกรรมสนทนา "สืบสานศาสตร์พระราชา นาสร้างสุข" กิจกรรมปล่อยปลาดุก 999 ตัวสู่แปลงนาสาธิต ปลูกพริกขี้หนู มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว บนคันนา 199 ต้น โดยต่อไปจะปลูกฟักทอง ฟักแฟง บวบ มะระเพิ่มอีกให้ได้จำนวน 399 ต้นบนคันนา นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์เกษม อัศวตรีรัตนกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นายวงษ์รัตน์ เพชรตีบ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง นายจรัญ จันทร์แก้ว นายกเทศมนตรีตำบลดอนประดู่ นายพนม อินทร์ศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 และนายทันโจ สุขชุม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ได้นำประชาชนร่วมสองร้อยคน ร่วมกันร้องเพลงเดินตามรอยเท้าพ่อ ด้วยบรรยากาศความรัก ความสามัคคี นำมาซึ่งความปิติให้กับผู้ร่วมงานเป็นอันมาก
จริงๆ แล้วเกษตรกรหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ไม่ได้ต้องการนวัตกรรมชั้นเลิศ สำหรับพวกเขาแล้ววิธีการใหม่ที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว มีวิธีการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และอยู่ในวิสัยที่จะนำไปใช้ได้ง่าย ใช้ได้จริงในครัวเรือนก็สามารถนำพาความหวังที่จะเห็นอนาคตของตนเองมั่นคง พออยู่ พอกิน ลดการพึ่งพาคนกลางให้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่ยุติธรรม เป็นการเดินตามรอยเท้าพ่อที่ก่อให้เกิดความสุขเรียบง่ายอย่างยั่งยืน