กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--หอการค้าไทย
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ท่องเที่ยวชุมชน ต้นแบบจากญี่ปุ่น" เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จริง ด้านการออกแบบและพัฒนาการจัดร้านค้าของฝากของที่ระลึกจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการจัดร้านค้าใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการซื้อของผู้บริโภค
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ท่องเที่ยวชุมชน ต้นแบบจากญี่ปุ่น" ว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก จึงทำให้การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนประมาณ 20% ของ GDP อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวของไทยยังคงกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหลัก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้ไปยังการท่องเที่ยวชุมชนได้ต้องอาศัยช่องทางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันการตลาดออนไลน์ถือเป็นช่องทางหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและเมืองรองต่าง ๆ ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นกว่าในอดีต
การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการท่องเที่ยวชุมชม ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงร้านค้าต้องมีจุดเด่นและอัตลักษณ์ของตัวเอง เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมและจับจ่ายใช้สอย ซึ่งสินค้าของไทยมีคุณภาพไม่ด้อยกว่าชาติอื่น นอกเหนือจากปัจจัยหลักที่จะทำให้สินค้าสามารถแข่งขันได้ ไม่ได้มีเพียงคุณภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึง การสร้างเรื่องราวและการพัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ด้วย
"หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยตระหนักในเรื่อง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำ ให้กับภาคธุรกิจตลอดจนผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสและขยายช่องทางการตลาด โดยการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน จึงได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมสัมมาเชิงปฏิบัติการ "ท่องเที่ยวชุมชน ต้นแบบจากญี่ปุ่น" ขึ้นในวันนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาย่านการค้าและการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้สนใจ โดย นำกรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาพัฒนาร้านค้าและผลิตภัณฑ์ โดยในวันนี้ วิทยากรจากจังหวัดมิเอะ ย่านโอะคาเกะ ก็ได้ยกตัวอย่างที่ดีในการสร้างเสน่ห์ให้กับท่องเที่ยวชุมชนให้พลิกฟื้นขึ้นมา โดยใช้ความศรัทธาร่วมกับการร่วมมือของผู้ประกอบการ ทำให้คนมาท่องเที่ยวซ้ำ และสร้างจุดขายโดยมี story telling ที่น่าสนใจ" นายกลินท์ กล่าว