กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นางไพรวรรณ คำเหลือง ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนบ้านไทรย้อย หมู่ที่ ๑๒ อ.เด่นชัย จังหวัดแพร่ บ้านไทรย้อย เปิดเผยว่า ชุมชนมีประชากรจำนวน 164 เรือน ตามทะเบียนราษฎร์ แต่มีราษฎรอยู่จริง 127 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 526 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว และรับจ้างทั่วไป จุดเริ่มต้นที่ชาวชุมชนหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันทั้งชุมชนเนื่องจาก เมื่อก่อนใช้สารเคมีกันเยอะทำให้ป่วยไข้สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง
ในปี 2546 ได้เชิญอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ มาให้องค์ความรู้กับชาวบ้านในการทำเกษตรอินทรีย์ และที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ มีโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุน มีแปลงสาธิตที่ชาวชุมชนได้เข้าไปดูงานพร้อมฝึกอบรมตามที่แต่ละคนสนใจ แล้วนำมาต่อยอดทำที่บ้าน
และล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดกิจกรรม "ชีววิถี อยู่ดี มีสุข"ขึ้น ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ณ ชุมชนต้นแบบชีววิถีบ้านไทรย้อย โดยมีตัวแทนจากชุมชนต่างๆ อาทิเช่น ชุมชนต้นแบบชีววิถีบ้านดงป่าสัก และชุมชนต้นแบบชีววิถีบ้านดู่เหนือ จ.น่าน ตลอดจนนักศึกษา ทูตสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิตปริญญาโท คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวม 60 คน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ และลงมือปฎิบัติในฐานกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้
นายถนอมพงค์ ชวลิตชีวินกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ(ช.อปน-๑.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้น้อมนำ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาด้วยการจัดตั้ง "โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่อย่างพอประมาณ ลดการใช้สารเคมีตามวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
และด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้อยู่ดี และมีสุขโดยร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งในปัจจุบันมี 112 แห่ง และมีชุมชนต้นแบบจำนวน 54 ชุมชน และศูนย์การเรียนรู้โครงการ ชีววิถีภายในพื้นที่ กฟผ. หลายแห่งส่งผลให้ชุมชนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 300 แห่ง ได้นำแนวทางนี้ ไปปฏิบัติใช้ และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับบ้านไทรย้อย หมู่ที่ 12 อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่