กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สทนช.
สทนช. จับมือทีมที่ปรึกษา ลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน บูรณาการจัดทำ (ร่าง) ผังน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังตอนล่างส่วนที่ 2 หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
นายยรรยง กุนาคำ นายอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การจัดทำผังน้ำ : พื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังตอนล่างส่วนที่ 2 ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ณ หอประชุมอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ว่า ลุ่มน้ำวัง มักประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำวังตอนล่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี สาเหตุจากปริมาณน้ำหลากจากลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำวัง ด้านท้ายเขื่อนกิ่วลมลงมาตั้งแต่อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง จนถึงบ้านปากวัง อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก อีกทั้งศักยภาพของอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลมไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจำนวนมากจากลุ่มน้ำวังตอนบนได้ ทำให้น้ำบางส่วนไหลล้นอาคารระบายน้ำล้นลงสู่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ส่งผลให้ระดับความรุนแรงของอุทกภัยมากขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งสภาพการใช้ที่ดินในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากพื้นที่ป่ากลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ จึงกระทบต่อตัวเลขด้านเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนในพื้นที่ เป็นโอกาสดีที่ สทนช. ได้คัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังตอนล่างส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดทำผังน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ Area Based ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำผังน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในภาพรวมต่อไป
ด้าน นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผังน้ำในหลายมาตรา รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังน้ำและการประกาศใช้ เพื่อให้การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดเอกภาพและเป็นระบบ จึงจำเป็นต้องมีการวางผังทางน้ำและทิศทางการไหลของทางน้ำทั้งระบบขึ้นมาก่อน ซึ่งการวางผังน้ำจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกับการจัดทำผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ
"สทนช. ร่วมกับทีมที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยคัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังตอนล่างส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่จัดทำผังน้ำตัวอย่าง สำหรับการจัดทำ (ร่าง) ผังน้ำให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย พื้นที่ตำบลล้อมแรดและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ตำบลเถินบุรี ตำบลแม่ปะ ตำบลแม่ถอด และตำบลนาโป่ง สำหรับประชุมในครั้งนี้ จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้ประกอบการจัดทำผังน้ำให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษาโครงการฯ โดย สทนช. เร่งเดินหน้าระดมความคิดเห็นการจัดทำผังน้ำให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ เพื่อให้ได้ผังน้ำของประเทศที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน" ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าวในตอนท้าย