กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กรมประมง
กรมประมง จัดอบรมหลักสูตร"การพัฒนาความรู้ของผู้สังเกตการณ์บนเรือ" ให้แก่ผู้สังเกตการณ์บนเรือจำนวน 26 นาย ที่ผ่านการอบรมจากกรมประมง เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการปฏิบัติงานได้เปลี่ยนแปลงไปผู้สังเกตการณ์จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและรับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอเพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตามความในมาตรา 50 และ 51 แห่งพ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย จำเป็นต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำการอยู่ในเรือประมงเพื่อทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการจับสัตว์น้ำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสังเกตการณ์พฤติกรรมการทำประมงของเรือประมงนอกน่านน้ำ ให้ปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ ป้องกันและขจัดการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพันธกรณีระหว่างประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมอย่างเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติส่งผลทำให้กรมประมงสามารถสร้างผู้สังเกตการณ์บนเรือได้ทั้งหมด 4 รุ่น
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงการอบรมหลักสูตรดังกล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำรวมทั้งมีการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกับมติขององค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMOs) โดยเฉพาะภาคีความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้(SIOFA) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกและเป็นพื้นที่ทำการประมงที่เรือประมงไทยนอกน่านน้ำมีความประสงค์ออกไปทำการประมงนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้สังเกตการณ์ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆกรมประมง จึงได้จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาความรู้ของผู้สังเกตการณ์บนเรือขึ้นในระหว่างวันที่ 16 - 21 ธันวาคมนี้ โดยการอบรมครั้งนี้ จะมุ่งเน้นการเสริมสร้าง พัฒนาและทบทวนความรู้ ความเข้าใจของผู้สังเกตการณ์บนเรือในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องที่ทันสมัย และการใช้แบบฟอร์มและวิธีการบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องรวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์จากการปฎิบัติงานของผู้ที่เคยปฎิบัติหน้าที่ผู้สังเกตการณ์บนเรือมาก่อนเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ความรู้ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับ จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อม และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลทำให้เกิดการยอมรับต่อสินค้าประมงที่มีการส่งออก ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ และความมั่นคงต่อทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนต่อไป อธิบดีกรมประมง กล่าว