กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า ตามที่มีผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการ Green Bangkok 2030 ตั้งข้อเสนอแนะ ระบุการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน แต่ต้องสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนควบคู่ไปด้วย เพราะบางพื้นที่เป็นจุดอับ เช่น บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ตรงสวนหย่อมใกล้ป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางหน้าวัดเสมียนนารี ไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอ ผู้ใช้เส้นทางที่เดินตัดสวนเพื่อไปป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางต้องเพิ่มความระมัดระวัง นั้น สสล. ได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในสวนสาธารณะทุกแห่งของกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มาใช้บริการสวน โดยจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสวนกระจายตามจุดต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ประตูเข้าออกหรือจุดสุ่มเสี่ยง มีวิทยุสื่อสารประจำตัวเพื่อแจ้งเหตุอย่างทันท่วงที อีกทั้งมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) และจุดบริการยาสามัญประจำบ้านเพื่อปฐมพยาบาลในเบื้องต้น รวมถึงได้สำรวจตรวจสอบระบบไฟฟ้าส่องสว่างในสวนสาธารณะเป็นประจำ หากพบการชำรุดจะเร่งแก้ไขทันที ขณะเดียวกันได้กำหนดแผนงานดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้ทุกประเภทตามหลักวิชาการและตามวัตถุประสงค์ของการตัดแต่งพืชชนิดนั้น ๆ แต่บางพื้นที่ที่ต้องมีร่มเงาของต้นไม้หนาแน่น สร้างความชุ่มชื้นเพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ เช่น บริเวณสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จะตัดแต่งตามความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติให้คงไว้
นายอาฤทธิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้กำหนดให้บริเวณสวนหย่อมวัดเสมียนนารี ริมถนนวิภาวดีรังสิต เป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงภัยจากทั้งหมด 15 จุด ของพื้นที่เขต ตามโครงการเฝ้าระวังและตรวจตราจุดเสี่ยงภัยเชิงบูรณาการ โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจจะลงพื้นที่ตรวจตราทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทั้งกลางวันและกลางคืน และรายงานผลการดำเนินการให้สำนักเทศกิจทราบทุกสิ้นเดือน ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ ยังไม่พบเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน