กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. เปิดเผยว่า จากข้อมูลแบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์สภาพอากาศหลังจากนี้จนถึงช่วงปลายปี 2562 กระแสลมหนาวจะอ่อนกำลังลง ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองมากขึ้น อาจเกิดภาวะ "สม็อก" (smog) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างฝุ่นควัน (smoke) และหมอก (Fog) นั้น ที่ผ่านมา สนอ. ได้เตรียมพร้อมป้องกันและระวังอันตรายจากภาวะฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยในสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 68 แห่ง ได้ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลตนเองจากภัยหรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนในสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร บุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และอาสาสมัครสาธารณสุข จะให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก อยู่ในระดับ 50 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ รวมทั้งจะติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก อยู่ในระดับ 76 - 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน ขณะเดียวกันได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แจกจ่ายประชาชนที่มาใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ตลอดจนจัดกิจกรรมให้ความรู้และสุขศึกษาในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล. ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยการรณรงค์ให้หน่วยงานในสังกัด กทม. ร่วมลดมลพิษ โดยกำชับพนักงานขับรถดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อจอดรถรับ-ส่ง รวมถึงโรงเรียนในสังกัด กทม. และอาคารสำนักงานเขตฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารอย่างต่อเนื่องทุกวันในช่วงวิกฤต ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วม ทั้งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าอาหารปิ้งย่าง ผู้ประกอบการโรงงานซีเมนต์ และประชาชนผู้มาติดต่อราชการในการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 นอกจากนั้น ยังได้รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ พร้อมให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านเว็บไซต์ www.bangkokairquality.com Facebook : กองจัดการอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน "กทม. Connect" อย่างต่อเนื่อง