กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กรมชลประทาน
วันที่ 17 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเลิงนกทา อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยทมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร โดยมีนางสาวธนกร จาตะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยพระมหาทินกร อิสฺสโร เจ้าคณะอำเภอชานุมาน นายสุพิช สามารถ นายอำเภอเลิงนกทา นายนฤชา แสงทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาวิศวกรรมธรณี นายองอาจ ผิวงาม ปลัดอาวุโสอำเภอชานุมาน นายสวัสดิ์ นาคสุทธิ์ ผู้อำนวยการ โครงการชลประทานยโสธร รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน สื่อมวลชนจากพื้นที่จังหวัดยโสธรและจังหวัดอำนาจเจริญ และประชาชนในพื้นที่โครงการประกอบด้วย 1) ตำบลบุ่งคล้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร 2) ตำบลคำเขื่อนแก้ว และ 3) ตำบลป่าก่อ อำเภอขานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เข้าร่วมประชุม จำนวน 212 คน
โดยมีนางสาวธนกร จาตะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้กล่าวถึงความเป็นมาในการประชุมปฐมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยทมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ในวันนี้ว่าด้วยจังหวัดยโสธร ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยต่อคณะนายกรัฐมนตรี ในปี 2547 และได้รับงบประมาณในปีดังกล่าว ภายใต้โครงการเร่งด่วนระยะปานกลางในการแก้ปัญหาของจังหวัด เพื่อเตรียมการก่อสร้างชุดโครงการอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยทมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, อ่างเก็บน้ำห้วยโขง(ตอนบน), อ่างเก็บน้ำลำเช และอ่างเก็บน้ำห้วยยาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยโดย 1 ใน 4 โครงการ ดังกล่าว คือการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งน้ำเก็บกักไว้ใช้ในการเพาะปลูกในเขตพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับ อุปโภค-บริโภคของประชาชน ตลอดจนสัตว์เลี้ยง บรรเทาความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ โดยใช้แนวทางการพัฒนาที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้สูงขึ้น ควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยสภาพพื้นที่โดยทั่วไป บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยทม มีความลาดชันค่อนข้างมาก สภาพเป็นป่าไม้และภูเขาสลับกับที่ราบลุ่มระหว่างซ่องเขา พื้นที่ทั้งหมดของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทม อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 การพัฒนาโครงการในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบในการหาแนวทางป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง
กรมชลประทาน จึงได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยบริษัทพรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนชัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท เมกก้าเทค คอนชัลแตนท์ จำกัด ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่กำหนด โดยมีระยะเวลาการศึกษา 330 วัน และสิ้นสุดสัญญาในเดือนกันยายน 2563
สำหรับวันนี้ เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการและรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอแผนงานและแนวทางการดำเนินงานโครงการ เพื่อให้ส่วนราชการ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ผู้แทนชุมชน ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบแนวทางการดำเนินการศึกษาโครงการ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งกรมชลประทานและคณะผู้ศึกษา พร้อมรับฟังและจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาในรายละเอียดต่อไป
โดยอ่างเก็บน้ำห้วยทมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ตั้งบ้านน้อมเกล้า หมู่ที่ 11 ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มีวัตถุประสงค์ คือ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคของประชาชนและสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้เพื่อบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย จะเป็นแบบเขื่อนดิน โดยมีความสูงของเขื่อน 12 เมตร ความยาว 850 เมตร และสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร และมีอาคารระบายน้ำล้น ความกว้าง 30 เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 7,265 ไร่
โดยผลสรุปภาพรวมของการประชุมปฐมนิเทศครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนในพื้นที่โครงการและผู้เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศครั้งนี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการและมีความต้องการให้ก่อสร้างโครงการโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค และบรรเทาน้ำท่วมต่อไป