กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2551 ณ ห้องประชุม 101 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันที่ 5 มีนาคม 2551
โครงการวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ประจำปี ๒๕๕๑
๑. หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในระดับสากลว่าจำเป็นต้องปกป้องการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า Human Right Defenders (HRDs) ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน อันเป็นกลไกที่สหประชาชาติรับรองเมื่อเดือนธันวาคม 2541
แม้ว่าจะได้รับรองสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องสิทธิชุมชนเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปกป้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การปกป้องสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร การชุมนุมโดยสงบ การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น กลับก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อผู้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม ข่มขู่ ทำร้าย ซึ่งหลายครั้งเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต
แม้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายต่างต้องเผชิญกับภัยอันตรายด้วยกัน แต่ผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับภัยอันตรายและความไม่มั่นคงมากกว่า เนื่องจากลักษณะงานของบรรดานักต่อสู้ฯ ที่เป็นผู้หญิงมักท้าทายขอบเขตทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา นอกจากนี้สังคมไทยยังปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงให้เห็นอยู่เสมอ รวมทั้งยังไม่ให้ความสำคัญต่อบทบาทของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง เห็นได้ว่ามีสัดส่วนผู้หญิงค่อนข้างน้อยในการดำเนินการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องรณรงค์เผยแพร่ให้สังคมไทยตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงและส่งเสริมให้มีผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ประจำปี ๒๕๕๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงร่วมกับสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรพันธมิตรอื่นๆ เพื่อสิทธิสตรี กำหนดการจัดงานวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๕๑ โดยในงานดังกล่าวจะมีการมอบรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” ด้วย
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อมอบรางวัลเป็นกำลังใจให้ “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” และส่งเสริมให้เกิดแบบอย่างที่ดีของสังคม
๒.๒ เพื่อส่งเสริม รณรงค์ เผยแพร่ให้สังคมเกิดการรับรู้ และเรียนรู้ร่วมกันในวงกว้าง จนเกิดความตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความสำคัญของวันสตรีสากล
๒.๓ เพื่อรณรงค์ เผยแพร่ ให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ
เสรีภาพของประชาชนเข้าใจภาวะยากลำบากและสภาพปัญหาของผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
๒.๔ เพื่อเปิดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสตรีในรอบปี ร่วมพิจารณาปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข และร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคต
๓. การดำเนินงาน
๓.๑ การจัดงานวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ประจำปี ๒๕๕๑ โดยเป็นการมอบรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี ๒๕๕๑
๓.๒ การจัดสัมมนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสตรีในรอบปี ร่วมพิจารณาปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข และร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคต และเพื่อส่งเสริม รณรงค์ เผยแพร่ให้สังคมเกิดการรับรู้ และเรียนรู้ร่วมกันในวงกว้าง จนเกิดความตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
๔. กลุ่มเป้าหมาย ประมาณ ๒๐๐ คน ประกอบด้วย
๔.๑ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเครือข่าย
๔.๒ ผู้นำองค์กรสตรี/ผู้นำสตรี
๔.๓ บุคคลที่เคยได้รับรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” และ รางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น
๔.๔ นักวิชาการ
๔.๕ เครือข่าย สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป
๕. วัน เวลาและสถานที่
วันพุธที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๑ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๖ ผู้รับผิดชอบ
คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี ๒๕๕๑ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๗ ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๗.๑ สตรีผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ มีขวัญและกำลังใจในการเสียสละ อุทิศตน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
๗.๒ สังคมเรียนรู้เข้าใจ ยอมรับ และสนับสนุนบทบาทสตรีในการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
๗.๓ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมลดลง อันจะนำไปสู่วัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
๗.๔ เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานเพื่อต่อสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกันต่อไป
กำหนดการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๕๑
วันพุธที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๑
ห้องประชุม ๑๐๑ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๐๘.๓๐ — ๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียน
๐๙.๐๐ - ๐๙.๑๕ น. กล่าวต้อนรับและเปิดงาน
โดย ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๐๙.๑๕ — ๐๙.๓๐ น. ฉายวีดีทัศน์แสดงความเป็นมาและความสำคัญของวันสตรีสากล
และผลงานของผู้ได้รับรางวัลดีเด่นผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน
ประจำปี ๒๕๕๑
๐๙.๓๐ — ๑๐.๐๐ น. พิธีมอบรางวัลผู้ได้รับรางวัลดีเด่นผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๕๑ และกล่าวแสดงความยินดี
โดย คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๐.๐๐ — ๑๐.๑๕ น. ผู้ได้รับรางวัลถ่ายรูปร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้เข้าร่วมงาน
๑๐.๑๕ - ๑๐.๓๐ น. รับประทานอาหารว่าง
๑๐.๓๐ — ๑๒.๓๐ น. เสวนากับผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน
ผู้ได้รับรางวัล ประจำปี ๒๕๕๑
๑. นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา
๒. น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
๓. นางปริยนัดดา พันธุ์แสนกอ
๔. กลุ่ม ส ๖ (ซอซิกซ์)
ผู้ได้รับรางวัล ประจำปี ๒๕๔๘
นางทิชา ณ นคร
ผู้ได้รับรางวัล ประจำปี ๒๕๔๙
นางซี แซ่ลี *
ผู้ได้รับรางวัล ประจำปี ๒๕๕๐
นางสาวฉันทลักษณ์ รักษาอยู่
ผู้ดำเนินรายการ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์
ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสาธารณะเพื่อสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
๑๒.๓๐ — ๑๓.๓๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๓๐ — ๑๔.๐๐ น. เสวนา (ต่อ)
๑๔.๐๐ น. พิธีปิดงาน
หมายเหตุ * อยู่ระหว่างการติดต่อ