กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2562 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ กรอบแนวทางเพื่อการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 6 วรรคสาม) และร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำร่วมประชุม
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนช. ในวันนี้ได้มีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 แผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ของ 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย (1)แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชนระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ขององค์การจัดการน้ำเสีย โดยมีแผนปฏิบัติการปี 2564-2580 ที่ส่งเสริมให้มีการจัดสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมระบบบำบัดน้ำเสียที่จะก่อสร้าง 780 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1.70 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และ (2)โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2562 และ ปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างพอเพียง รวม 14 โครงการ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 513,960 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 453,583 ราย
เรื่องที่ 2 แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย (1)โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) โดย สทนช. ได้ศึกษาทบทวนความเพียงพอของการพัฒนาและจัดทำแผนหลักเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 10 ปี และ 20 ปี พบว่า ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560–2580 รวม 670 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยในแผนการดำเนินการประกอบด้วย 1.แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน ปี 2563-2570 รวมทั้งสิ้น 38 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 872.19 ล้าน ลบ.ม. 2.แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ ปี 2563-2580 จำนวน 9 โครงการ/มาตรการ 3.แผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ปี 2563–2580 จำนวน 25 โครงการ 4.แผนการจัดการคุณภาพน้ำ ปี 2563–2580 จำนวน 33 โครงการ และ 5.มาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ปี 2563-2580 จำนวน 3 โครงการ (2)แผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ 12 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 65 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนา 10 ปี (พ.ศ. 2563-2572) กรอบวงเงิน 7,445 ล้านบาท โดยมีแผนงานระยะเร่งด่วน ปี 63-65 จำนวน 34 โครงการ กรอบวงเงิน 1,842 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาขยายเขตเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน ก่อสร้างสถานีสูบน้ำรอบหนองหาร ขุดลอกหนองหาร ก่อสร้างระบบระบายน้ำป้องกันพื้นที่ชุมชน เป็นต้น และ (3)เป้าหมายแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญเพิ่มเติมจำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น 5 ประเภท การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำหลัก 1 โครงการ บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำนอง 3 โครงการ แผนหลักการพัฒนาบึงและหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 3 โครงการ การบรรเทาอุทกภัยเมืองสำคัญ 3 โครงการ และจัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว 1 โครงการ
เรื่องที่ 3 พิจารณากรอบแนวทางเพื่อการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 6 วรรคสาม) ประกอบด้วย ด้านการจัดทำแผนและติดตามผล ข้อ 1 ให้มีแผนงานการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ทั้งในภาวะปกติ และในภาวะน้ำแล้งหรือภาวะน้ำท่วม โดยให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯในเขตลุ่มน้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่ผ่านความเห็นชอบของ กนช. ข้อ 2 ให้ประสานหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบริหารจัดการและใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะสำหรับกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ ตามกฎหมายหรือกฎในเรื่องนั้น ข้อ 3 ให้มีการติดตามและรายงานผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและผลดีหรือผลกระทบในการดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และด้านการจัดทำมาตรการและควบคุมดูแล ข้อ 4 ให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการบุกรุก การกระทำอื่นใดอันจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ หรือทำให้เสื่อมสภาพต่อคุณภาพของน้ำ ข้อ 5 ให้มีการควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ในบริเวณพื้นที่แหล่งทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้น โดยภายหลังจากที่ประชุมเห็นชอบแล้ว สทนช.จะได้นำไปจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอประธาน กนช. พิจารณาลงนามและนำมาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการต่อไป
และเรื่องที่ 4 ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม การบูรณาการระหว่างหน่วยงานจังหวัด โดยได้คัดเลือกจังหวัดนำร่อง เพื่อดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ซึ่งในปี 2563 สามารถดำเนินการได้จำนวน 40 จังหวัด และที่เหลืออีก 36 จังหวัดจะดำเนินการในปี 2564 โดยมีโครงสร้างองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด จำนวน 20-25 คน มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เป็นรองประธาน มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นเลขานุการร่วม (เจ้าภาพ) มี สทนช. และ ปภ. จังหวัด เป็นเลขานุการร่วม องค์กรผู้ใช้น้ำ จำนวน 3 คน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำแผนงาน แผนปฏิบัติการ และแผนงานงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามกรอบแผนแม่บทระดับลุ่มน้ำ บูรณาการและขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับจังหวัดทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต บูรณาการข้อมูลและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และรายงานต่อ กนช.
ในช่วงท้ายของการประชุม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยในสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2562/2563 นี้ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบและปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด ซึ่ง สทนช.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ในการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562 คาดการณ์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค จำนวน 43 จังหวัด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้พร้อมแล้ว โดยในเขตพื้นที่ให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อบาดาล 61 สาขา 31 จังหวัด กรมชลประทาน จัดสรรน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาตามศักยภาพ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สนับสนุนข้อมูลวิชาการและกระบวนการขุดเจาะบ่อบาดาล และจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับประปาหมู่บ้านในพื้นที่นอกเขต กปภ. ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล 524 แห่ง 32 จังหวัด โดยเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 187 แห่ง กองทัพบก 155 แห่ง และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 182 แห่ง และจัดหาน้ำผิวดินอีก 232 แห่ง โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้จัดหาแหล่งน้ำสำรองให้กับสถานพยาบาลที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ในเขต กปภ. 224 แห่ง และนอกเขต กปภ. 157 แห่งด้วย ในส่วนพื้นที่การให้บริการของการประปานครหลวง (กปน.) มีแผนการผันน้ำแม่กลองเพื่อการอุปโภคบริโภคและแผนขุดเจาะน้ำบาดาล 4 บ่อ
สำหรับในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรนอกเขตชลประทาน ที่คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงรุนแรงกว่า 30 จังหวัด 0.37 ล้านไร่ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมแผนรับมือโดยเร่งจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน ทั้งการขุดบ่อบาดาลและหาแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อลดความรุนแรงของไม้ผลที่อาจยืนต้นตายได้ นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือทั้งประเทศรวม 4,192 เครื่อง และจัดเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือได้ทันทีที่ประชาชนร้องขอ ส่วนสถานการณ์แม่น้ำโขงที่ลดลง เตรียมเสนอขอความร่วมมือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการขอน้ำเพิ่มในฤดูแล้งเป็นกรณีพิเศษ และให้วางมาตรการแม่น้ำโขงให้ชัดเจนเพื่อการบริหารจัดการน้ำในอนาคตด้วย โดยขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อจะได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรมตลอดช่วงแล้งนี้