กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสาธารณสุข ประจำปี 2562 Asia-Pacific Academic Consortium for Public Health Conference (APACPH) 2019 ครั้งที่ 51 ภายใต้แนวคิด "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในความเป็นจริง (SDGs in Reality)" ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล และครบรอบ 72 ปี แห่งการสถาปนาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและ เทคโนโลยีทางการศึกษาด้านสาธารณสุขระดับโลก
ในการประชุมฯ ได้มีการมอบรางวัล The APACPH Excellence in Leadership Medallion แด่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เคยเป็นอธิการบดีคนแรกที่นำมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าสู่การจัดอันดับโลก จนได้อันดับหนึ่งของประเทศไทย และได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ จากที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนอีกหลายตำแหน่งในแวดวงวิชาการ และองค์กรชั้นนำของประเทศ
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นผู้นำการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ โดยผสมผสานเรื่องสุขภาพเข้ากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยนโยบาย "สุขภาพโดยคนทั้งมวล เพื่อคนทั้งมวล" (All for Health for Health for All) ซึ่งนอกจากจะมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพดี ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีความสุข และระบบสุขภาพยั่งยืน โดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า นายกสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ CEO แต่เป็นผู้วางนโยบาย และกำกับดูแลให้มหาวิทยาลัยเดินไปตามนโยบายได้อย่างมีทิศทาง ซึ่งหลักการ All for Health สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกภาคส่วน เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยมหิดล หากเจ้าหน้าที่มีความสุข และมีระบบสุขภาพที่ดี ก็จะสามารถขึ้นอันดับ 1 ได้
นอกจากนี้ ในการประชุมยังได้มอบรางวัล APACPH Medal of Merit Award แด่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าสู่ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการส่งเสริมสุขภาพ หรือ ASEAN University Network-Health Promotion Network (AUN-HPN) ซึ่งได้จัดทำกรอบมหาวิทยาลัยสุขภาพ เพื่อกำหนดเป็นทิศทาง และมาตรการในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน ตลอดจนได้นำแนวคิด SDGs เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ มาใช้ในการสานต่อนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเริ่มต้นในสมัยที่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จนทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ 4 ปีซ้อน จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวว่า ตนได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) ในการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลให้ตอบโจทย์ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรด้วยความตระหนักร่วมกันถึงอนาคตของมวลมนุษยชาติ โดยให้ใช้เท่าที่จำเป็น และคุ้มค่ามากที่สุด บนความสมดุลและยั่งยืน ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มองว่า SDGs เป็นเรื่องที่ทุกคนบนโลกใบนี้ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบของการใส่ใจในสภาพแวดล้อม และสุขภาวะ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ APACPH เป็นความร่วมมือระหว่างภาคีสถาบันการศึกษา ด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และความร่วมมือของสถาบันการศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ University of Hawaii, Mahidol University, University of Philippines, Peking Medical University, National University of Singapore จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Healthy and Green Meeting ซึ่งมีการนำเสนอผลงานสถานการณ์ของ SDGs ในปัจจุบันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในการประชุมฯ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอผลงาน "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" ที่เป็นต้นแบบการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนให้กับผู้ป่วยโรค NCDs ทั่วประเทศ
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร.0-2849-6210