กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า มทร.อีสาน ได้ดำเนินการโครงการจัดตั้งสถาบันอุตสาหกรรมการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน ทั้งสายช่างและวิศวกร ซึ่งอุตสาหกรรมอากาศยานนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศไทยที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของ มทร.อีสาน และมีสนามบินซึ่งมีเที่ยวบินเดินทางไปยังหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ มทร.อีสาน ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจและประชาชน โดยการพัฒนาบุคลากรสถาบันอุตสาหกรรมการบิน แห่ง มทร.อีสาน ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ ด้านอากาศยาน อาทิเช่น การอบรมมาตรฐาน EASA PART 66 ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี การอบรมด้านอากาศยาน บริษัท Thai Flight Training ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเยี่ยมชมฝ่ายช่างการบินไทยที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น ฉะนั้นอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่นับเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยหลักสูตรของอุตสาหกรรมการบิน แห่ง มทร.อีสาน มีเครื่องมือในการจัดการเรียนสอนที่ครบครัน ซึ่งผู้จบการศึกษาสามารถสร้างอาชีพให้กับตนเอง หรือสร้างธุรกิจใหม่ ให้คนในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงได้อยู่ใกล้บ้าน มีอาชีพที่มั่นคง ทั้งนี้ผลการสำรวจของ มทร.อีสาน โพล โดยศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ ยังได้จัดทำผลสำรวจความพึงพอใจ ในหัวข้อ "การกลับมาของสายการบินพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมา" พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 97 ต้องการให้ท่าอากาศยานนครราชสีมาเปิดบริการอีกครั้ง ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีที่คนในจังหวัดนครราชสีมาเห็นด้วยขนาดนี้ เนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาเติบโตในภาคการคมนาคม มีการจับจ่ายใช้สอย เกิดเม็ดเงินสะพัดในโคราชหลายร้อยล้านบาท เกิดการสร้างอาชีพ คนโคราชก็มีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยผลสำรวจจากประชาชนยังพบว่า มีความต้องการให้มีเที่ยวบินสู่เมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ เช่น จ.เชียงใหม่ ร้อยละ 35 และ จ.ภูเก็ต ร้อยละ 31 หมายความว่า โคราชจะกลายเป็นหัวเมืองหลักของภาคอีสาน ซึ่งเชื่อมโยงกับหัวเมืองภาคเหนือ และภาคใต้ ในส่วนเที่ยวบินต่างประเทศผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าควรมีเที่ยวบินไปยังประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 25 สิงคโปร์ ร้อยละ 18 และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร้อยละ 14 ในส่วนความต้องการระบบขนส่งสู่ท่าอากาศยาน ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 62 รองลงมาคือ รถตู้ของห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองที่อำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งผู้โดยสาร ไป-กลับท่าอากาศยาน ร้อยละ 18 และการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ ร้อยละ 11 ตามลำดับ ในส่วนช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสาร พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการซื้อตั๋วทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ของสายการบิน ร้อยละ 48 รองลงมาคือ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ร้อยละ 33 และช่องทางการจำหน่ายที่เคาท์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 14 เป็นต้น
ผู้สนใจศึกษาต่อสาขาวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน หลักสูตรที่เปิดสอน คือ
1.ภาคพื้นดิน ซึ่งจะมีหลักสูตร วศ.บ.วิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ระดับ ป.ตรี เนื้อหาหลักสูตรอ้างอิงตามมาตรฐาน EASA เรียน 4 ปี (เปิดแล้วในปี 2562), หลักสูตรช่างอากาศยานระดับ ปวส. เรียน 2 ปี (เปิดปี 2564) หลักสูตรการจัดการธุรกิจการบินระดับ ป.ตรี เรียน 4 ปี (เปิดปี 2563) และ
2.ภาคอากาศ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (เปิดปี 2564) และแอร์โฮสเตส (เปิดปี 2564) ภายใต้การเรียนการสอนของ สถาบันอุตสาหกรรมการบินแห่ง มทร.อีสาน
ผู้สนใจศึกษาต่อได้ที่ www.rmuti.acth โทรศัพท์ 044 – 233000 ต่อ 2730-5 หรือ Facebook : สถาบันอุตสาหกรรมการบิน แห่ง มทร.อีสาน นครราชสีมา ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย