กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๗/๒๕๖๒ ว่า ที่ประชุม รับทราบ ผลการดำเนินการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำปี พ.ศ.๒๕๖๒ ในประเทศ ไทย ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้มีการจัดงานประกาศ พิธียกย่องเชิดชูเกียรติภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ และมติคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไมได้ ของยูเนสโก ในการประชุม ครั้งที่ ๑๔ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย ที่รับรองและประกาศให้ "นวดไทย" (Nuad Thai, traditional Thai massage) ขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไมได้ของมนุษยชาติ the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity
นายอิทธิพล เปิดเผยต่อว่า เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ความรู้ ความเข้าใจ ให้เกิดความตระหนักถึง
ความสำคัญของ "นวดไทย" กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้นำเสนอแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับและเตรียมจัด กิจกรรมต่างๆ ระหว่างเดือน ธันวาคม ๒๕๖๒ – สิงหาคม ๒๕๖๓ ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ ความรู้เรื่องนวดไทยให้กับเยาวชนและประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในรูปแบบต่างๆ ๒ ภาษา (ไทย-อังกฤษ) การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและสืบสานองค์ความรู้นวดไทย เช่น กิจกรรมสัญจร/ ตลาดนัดวัฒนธรรม งานประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน องค์กร ที่ส่งเสริมนวดไทย และ เตรียมจัดงานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นวดไทย ในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ได้เสนอแนวทางการส่งเสริมการนวดไทย ได้แก่ ๑.การจัดทำมาตรฐานการนวดไทย ได้แก่ การพัฒนาด้านองค์ความรู้ การพัฒนาหลักสูตรการนวดไทย การพัฒนาด้านระบบบริการนวดไทย ๒.การประเมิน และรับรองมาตรฐานการนวดไทยในประเทศ (Certification Body) ๓.การสร้างอัตลักษณ์ "นวดไทย" สู่ระดับโลก ได้แก่ การยกย่องเชิดชูเกียรติ หมอไทย แห่งชาติ สาขานวดไทย การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การนวดไทย และ ๔.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและ พัฒนาการนวดไทย อีกด้วย ๕.มาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน การนำนวดไทย ไปหาผลประโยชน์ในธุรกิจขาย บริการ และ ๖.เตรียมเสนอให้นำนวดไทย ไปใช้ดูแลนักกีฬาที่ไปแข่งขัน เช่น โอลิมปิก ที่โตเกียว กรกฎาคม ๖๓ นี้
และที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการเสนอรายการ "โนรา" เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ล่าสุดฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ ของยูเนสโก ได้ ยืนยันการได้รับเอกสาร "โนรา" (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) จากประเทศไทย แล้ว พร้อมแจ้งรอบการพิจารณา "โนรา" จะอยู่ในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๔
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดทำข้อมูล "สงกรานต์" เพื่อเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดก วัฒนธรรมที่จับต้องไมได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยให้จัดทำข้อมูลเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ ความเห็นชอบภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ จากนั้นจะส่งเรื่องต่อฝายเลขานุการอนุสัญญาฯ ภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ทั้งนี้คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๕ อีกทั้งให้ศึกษาการจัดทำข้อมูลกรณีเสนอสงกรานต์เป็นมรดกร่วมกับต่างประเทศ (ประเทศลุ่มน้ำโขงและจีน) ต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเห็นชอบการจัดทำข้อมูลรายการ "ต้มยำกุ้ง" เพื่อเตรียมนำเสนอต่อยูเนสโกในลำดับถัดไป
นายอิทธิพล ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังรับทราบ แนวทางการดำเนินงานเพื่อการ พัฒนางานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติม (ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕) ได้แก่
๑.การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
๒.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
๓.การศึกษารายการมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมของไทยที่อยู่ในข่ายเป็นมรดกร่วมกับประเทศอาเซียน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก
๔.การ ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต้นแบบเพื่อพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน
๕.การจดทำชุดองค์ ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีของชาติ และ ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก
๖.การศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริม รักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ