กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กฟผ.
เติมเต็มป่าชายเลนชุมพร กฟผ. ระดมจิตอาสา ร่วมกิจกรรม พลิกฟื้น คืนผืนป่าชายเลน สู่ธรรมชาติ นำไม้ชายเลนกว่า 3,600 ต้น ปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรม ชาวชุมพรขานรับร่วมกิจกรรมคึกคัก พร้อมประกาศจะดูแลรักษาให้ป่าชายเลนเจริญเติบโตฟื้นคืนความสมบูรณ์ต่อไป
นายผล ขวัญนุ้ย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในระหว่างพิธีเปิดกิจกรรม "รวมพลังจิตอาสา พลิกฟื้น คืนผืนป่าชายเลน สู่ธรรมชาติ" ณ พื้นที่แปลงปลูกป่า ชายเลน ตำบลทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ว่าปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ไฟไหม้ป่าและปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ก่อเกิดปัญหาซ้ำเติมภาวะโลกร้อนที่นับวันยิ่งรุนแรงและส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตในโลก กฟผ. ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ ครบรอบปีที่ 50 ในปี พ.ศ.2537 และได้ดำเนินการปลูกป่ามาอย่างต่อเนี่องเป็นเวลากว่า 25 ปี นับถึงปัจจุบันรวมพื้นที่ ปลูกป่า กฟผ. ทั่วทุกภาคของประเทศมากกว่า 460,000 ไร่
ทั้งนี้ การปลูกป่า กฟผ. จะยึดหลักการปลูกป่าตามผลการศึกษาทางวิชาการ คือปลูก 1 ปี บำรุงรักษาป่าที่ปลูกต่อเนื่อง 2 ปี สำหรับในพื้นที่จังหวัดชุมพร กฟผ. ได้ดำเนินการปลูกป่ามาแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,065 ไร่ เป็นป่าบก 10,165 ไร่ และป่าชายเลน 1,900 ไร่ เพื่อฟื้นฟูสภาพผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ช่วยสร้างความสมดุลของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่และสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ได้ประมาณ 275 ตันต่อปี
"เพื่อการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องทาง กฟผ. จึงได้จัดกิจกรรม "รวมพลังจิตอาสา พลิกฟื้น คืนผืนป่าชายเลน สู่ธรรมชาติ" พื้นที่จังหวัดชุมพรขึ้น โดยในครั้งนี้จะปลูกป่าชายเลนจำนวน 3,600 ต้น ภายใต้แนวทางปลูกต้นไม้ในใจคนตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับป่าชายเลนแหล่งทรัพยากรอาหารทะเลรวมทั้งแหล่งผลิตอ๊อกซิเจน ตลอดถึงช่วยดักกรองของเสียให้เป็นน้ำดีต่อไป" นายผล ขวัญนุ้ย กล่าว
ทางด้านนายอภิญญา คนดี ปลัดอาวุโส อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร กล่าวว่าที่ผ่านมาป่าชายเลน ถูกทำลายลงไปมาก ที่ไม่เพียงทำลายแหล่งทรัพยากร แหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากิน และระบบนิเวศที่ปกป้องผืนแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงความสูญเสียที่ตามมาอีกมาก เช่น วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนชายฝั่งวัฒนธรรมการอยู่อาศัยแบบแบ่งปันเกื้อกูลตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ผลิตผลจากป่าชายเลน เหล่านี้ล้วนเป็นคุณค่าที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ "ขอขอบคุณ กฟผ. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน ชุมชน และทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมแบบบูรณาการในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และขอฝากต้นกล้าโกงกางที่ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกในวันนี้ไว้ให้พี่น้องทุกคนได้ช่วยกันดูแลรักษาให้เจริญเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนต่อไป"นายอภิญญา คนดี กล่าว
ส่วนนายกรรณเกษม มีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะชุมพร กล่าวว่าป่าชายเลน เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาล และมีความสำคัญต่อมนุษย์หลายรูปแบบถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายจากซากพืชที่ตัวอ่อนของสัตว์น้ำเข้ามาอาศัย และหากิน เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และระบบนิเวศทางทะเล ที่สำคัญป่าชายเลนยังทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเลที่สามารถซ่อมแซมตนเองได้เมื่อได้รับความเสียหายจากพายุคลื่นลมแรง และลดความรนุนแรงจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์
"กิจกรรม "รวมพลังจิตอาสา พลิกฟื้น คืนผืนป่าชายเลน สู่ธรรมชาติ" ของ กฟผ. ในครั้งนี้ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ได้เข้ามาให้คำแนะนำในการปลูกป่าชายเลนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการป่าไม้ รวมถึงอำนวยการจัดเตรียมพื้นที่และกล้าไม้ไว้ให้ ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกจะมีการดำรงรักษาดูแลอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปี เพื่อให้อยู่รอดและเจริญเติบโตที่ดี เป็นความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝัง และนับเปนอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถปลูกจิตสำนึกคนด้วยการ "ปลูกป่าในใจคน" อันเป็นหัวใจในการฟื้นผืนป่าตามศาสตร์พระราชารัชกาลที่ ๙ อีกด้วย"
นายกรรณเกษม มีสุข กล่าว