กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ม.มหิดล
โลกในยุคดิสรัปชั่นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกด้าน จนส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการพัฒนาที่คุณภาพของ "ความเป็นมนุษย์" เด็กและเยาวชนเปรียบได้กับ "ต้นกล้าแห่งอนาคต" ที่รอการบ่มเพาะความรู้ อบรมความดี ให้พร้อมตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเติบโตเป็น "มนุษย์" ที่มีคุณภาพ
โครงการพระบัณฑิตอาสา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นตามความประสงค์ของ คุณน้ำทอง คุณวิศาล หรือ "ย่าน้ำทอง" ผู้สร้าง "น้ำทองสิกขาลัย" ที่พำนักของพระนักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้จบออกไปช่วยเหลือสังคม
ปัจจุบันมีพระบัณฑิตอาสาของโครงการฯ ไปทำหน้าที่พระนักพัฒนา ทำงานจิตอาสา จัดอบรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในส่วนกลาง กรุงเทพฯ - นครปฐม และส่วนภูมิภาค กระจายตามจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ อาทิ พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ และน่าน
"ธรรมะทูเดย์" เป็นหนึ่งในโครงการพระบัณฑิตอาสา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานของชีวิตโดยใช้ศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางจริยธรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพของความเป็นมนุษย์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
พระสุมินทร์ คัมภีรปัญโญ (อินตะจักร) หรือ "หลวงพี่มิน" หัวหน้าพระวิทยากรธรรมะทูเดย์ บัณฑิตรุ่นที่ 16 ของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงที่มาของชื่อกลุ่ม "ธรรมะทูเดย์" ว่า เป็นธรรมะที่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับอดีตที่ผ่านมา และอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น จัดค่ายอบรมที่สอดแทรกธรรมะผ่านกิจกรรม โดยเริ่มต้นที่กลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในจุดเปลี่ยนของชีวิต
หลวงพี่มินมองว่า เด็กและเยาวชนเป็นวัยเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ หากได้รับการปลูกฝังที่ดี จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งการที่จะสามารถเข้าไปถึงจิตใจของเด็กได้นั้น ต้องเริ่มจากการเป็นเพื่อนที่จริงใจ และให้โอกาส ให้เขารู้สึกไว้ใจและปลอดภัย จนยอมเปิดใจในที่สุด
"ค่ายธรรมะทูเดย์ ไม่ใช่ค่ายทหารที่เน้นกฎระเบียบ แต่ทำอย่างไรให้เด็กที่มาเข้าค่ายแล้วรู้สึกมีความสุข ยิ่งเขาเข้าถึงสุข ก็ยิ่งใกล้ถึงธรรม โดยเด็กๆ จะได้มีความสุขจากการเรียนและเล่นควบคู่กันไป เสริมท้ายด้วยธรรมะที่จะทำให้เขามีจิตใจที่สงบ"
"ใน 100 คน ถ้ามีสัก 1 คน ในขณะที่คิดจะฆ่าตัวตาย แล้วได้นึกถึงคำสอนในวันที่เขาเคยไปเข้าค่ายธรรมะทูเดย์ แล้วได้กลับใจเปลี่ยนตัวเองไม่ฆ่าตัวตาย แค่นี้ก็ถือเป็นความสำเร็จของโครงการแล้ว" หลวงพี่มินกล่าว
จากผลงานของธรรมะทูเดย์ที่ผ่านมา 4 ปี นับจากวันที่มีพระบัณฑิต 3 รูปรวมกลุ่มกันจัดตั้งโครงการฯ จนปัจจุบันมีพระร่วมเครือข่ายกว่า 20 รูป ได้ขยายผลจัดอบรมคุณธรรม จริยธรรมให้กับกลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเด็กและเยาวชน จนมหาวิทยาลัยมหิดลมอบรางวัล "โครงการ 50 ความดี 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล" จากความตั้งใจให้ความดีเกิดขึ้นกับสังคม โดยเชื่อว่าในวันหนึ่งสิ่งที่ทำจะส่งผลงอกงาม
"เราปลูกต้นไม้ เราไม่ได้หวังว่าต้นไม้จะโตวันนี้หรือพรุ่งนี้ เรายังหมั่นใส่ปุ๋ย พรวนดิน รดน้ำไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งต้นไม้จะหยั่งรากลึกลงไปในดิน แล้วเติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ออกดอกออกผลให้คนได้ชื่นชม" หลวงพี่มินกล่าวทิ้งท้าย
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร.0-2849-6210